ช้างไนท์ซาฟารี ท้องอืด-ตายแล้ว 2 เชือก

ช้างโครงการไนท์ซาฟารีตายพร้อมกัน 2 เชือก

คาดสาเหตุกินหญ้าแก่เกินไปจนมีอาการท้องอืดพร้อมกันหลายเชือก แต่ช่วยทันแค่ 3 ส่งหญ้าพิสูจน์หาสารพิษว่ามียาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยยูเรียเกินปริมาณหรือไม่ เหตุการณ์ช้างในโครงการไนท์ซาฟารีตายพร้อมกันถึง 2 เชือก เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม คณะผู้บริหารและสัตวแพทย์ของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นำโดยนายสุพจน์ เมธาภิวัฒน์ ผอ.สำนักจัดการสัตว์ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นายปรีชา รัตนภรณ์ รอง ผอ.สำนักจัดการสัตว์ น.สพ.ชาตรี คูหาเทพารัตน์ หน.กลุ่มงานสัตวแพทย์ น.สพ.อนุรุธ อังศุสิงห์ นายสัตวแพทย์ประจำโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และนายเจตพิพัฒน์ ทองฟู ควาญผู้ดูแลช้าง แถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีช้างในไนท์ซาฟารีตาย

นายสุพจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ช้างในความดูแลของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ตายจริง

แต่ตายเพียง 2 เชือก ไม่ใช่ 4 เชือก อย่างที่มีกระแสข่าวออกไป ส่วนช้างที่ตายคือ "พังจอย" อายุ 12 ปี และ "พังคุณยาย" อายุกว่า 60 ปี ส่วนที่เหลือทีมสัตวแพทย์สามารถช่วยชีวิตเอาไว้ได้ทัน ส่วนการตายของช้าง 2 เชือกนั้น สืบเนื่องจากวันที่ 28-30 กันยายน ที่ผ่านมา ช้างเพศเมียที่เลี้ยงไว้ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี 5 ตัว คือ "พังลินดา" อายุ 5 ปี "พังสาลินี" อายุ 60 ปี "พังแป้น" อายุกว่า 20 ปี "พังจอย" และ "พังคุณยาย" เกิดล้มป่วยลงพร้อมกัน ไม่ยอมกินอาหารและท้องอืดอย่างหนัก สัตวแพทย์ของโครงการจึงประสานกับผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง ทั้งจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ และทีมสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระดมกำลังเข้ารักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งให้ยาขับระบายลม ล้วงก้นช่วยเอาอุจจาระออกมา รวมทั้งเติมน้ำเกลือให้ แต่ระหว่างรักษาปรากฏว่า ช้าง 2 เชือกดังกล่าวอาการหนัก "พังจอย" ถึงกับเสียชีวิตคามือสัตวแพทย์ ส่วนพังคุณยายนั้นเสียชีวิตต่อมา


นายสุพจน์ กล่าวว่า สาเหตุของอาการท้องอืดพร้อมกันจนเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตนั้น

เบื้องต้นทีมสัตวแพทย์ที่ร่วมรักษาให้ความเห็นว่า น่าจะเกิดจากการกินหญ้าที่แก่เกินไป และกินในจำนวนที่มาก ซึ่งหญ้าที่นำมาให้ช้างกินครั้งนี้เป็นหญ้าที่รับซื้อมาจากชาวบ้านสามตำบลใกล้เคียง คือ ต.แม่เหียะ ต.สุเทพ และ ต.หนองควาย ที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำหญ้าที่ปลูกมาจำหน่ายให้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอาหารของไนท์ซาฟารีเองด้วยที่อาจตรวจสอบหญ้าที่นำมาให้ช้างกินไม่ละเอียดพอ

ผอ.สำนักจัดการสัตว์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะนำเอาหญ้าไปตรวจหาสารพิษ

เพื่อหาสาเหตุการตายอย่างละเอียดอีกครั้ง คาดว่าจะทราบผลได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจรับซื้อหญ้าให้มากขึ้นกว่าเดิม พร้อมกำชับให้ตัดก้านและโคนต้นทิ้ง ให้ช้างกินแต่ส่วนที่เป็นปลายใบเพื่อป้องกันอาการท้องอืด รวมถึงให้ควาญพาช้างเดินและกินน้ำให้มากขึ้น

"เจ้าหน้าที่ยังสันนิษฐานอีกทางหนึ่งด้วยว่า สาเหตุของอาการท้องอืดอาจเกิดจากการรับสารพิษจากยาฆ่าแมลงหรือปุ๋ยยูเรียที่ชาวบ้านอาจใส่ในปริมาณที่มากเกินไปขณะปลูกเพื่อเร่งการเติบโตของหญ้า ซึ่งเรื่องนี้จะสืบหาข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการป้องกันปัญหาอาหารช้างที่จะนำไปสู่การเจ็บป่วยและล้มตายของช้างต่อไป"
นายสุพจน์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์