จุฬาฯเสนอ8ข้อสร้างสันภาพสื่อไทย


อาจารย์นิเทศจุฬาฯเสนอแนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย8ข้อ



จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งถึงขีดสูง มีการก่อวินาศกรรมในหลายพื้นที่ อาทิ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  และสื่อในเครือโพสต์ พับบลิชชิ่งหรือการข่มขู่คุกคามตามที่ทำการและกองบรรณาธิการต่าง ๆ รวมถึงผู้สื่อข่าวในภาคสนาม ทำให้สื่อไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่ควรจะเป็น ส่งผลให้สวัสดิภาพ ขวัญและกำลังใจของนักวิชาชีพข่าวอ่อนล้าลง

ทางคณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอนำเสนอ "แนวทางการสร้างสรรค์สันติภาพแก่สื่อและสังคมไทย" โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การนำเสนอข่าวในสื่อทุกประเภทพึงยึดหลักความถูกต้อง จรรยาบรรณวิชาชีพและประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะการแสวงหาข้อมูลที่ตรวจสอบได้ พร้อมนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง ปราศจากความเป็นฝักเป็นฝ่าย

2.สื่อไม่ควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรง ที่แบ่งฝักฝ่ายสองขั้วอย่างชัดเจนและความขัดแย้งที่มีเป้าหมายเดียวเพื่อเอาชนะ โดยเน้นหาผู้ชนะและผู้แพ้ แต่สื่อควรให้ความสำคัญกับสเหตุและผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความรุนแรงและความขัดแย้ง เช่น ความชอกช้ำทางจิตใจ ความสูญเสียของสังคมและประเทศชาติโดยภาพรวมมากกว่า การนำเสนอภาพความสูญเสียที่กระทบอารมณ์ความรู้สึก การสอดแทรกวาระทางการเมือง การกระตุ้นยอดขายหรือการแสวงผลประโยชน์ทางการตลาด

3.การนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อควรแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นและต้องหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่ส่อเสียด ยุยง หยาบคาย มีการปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชังหรือพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงใด ๆ

4. สื่อควรมุ่งเน้นบทบาทของการเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำเสนอเหตุผลสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุแห่งความขัดแย้ง เพื่อหาทางออกในการคลี่คลายปัญหาและสร้างความสมานฉันท์ในสังคม

5.ในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง องค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระของรัฐและองค์กรกำกับดูแลตนเองในวิชาชีพสื่อ จำเป็นต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนและเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งยังไม่จำเป็นต้องรอการร้องเรียน

6.การใช้สื่อเป็นช่องทางในการก่อการร้าย ก่อวินาศกรรม อันอาจนำไปสู่ความสูญเสียทั้งทางร่างกาย ทรัพย์สินและจิตใจ จำเป็นต้องมีการจัดการตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมให้เด็ดขาด

7.รัฐควรสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้สื่อข่าวในภาวะวิกฤตินี้จะได้รับเสรีภาพและสวัสดิภาพในการทำหน้าที่ผู้แจ้งข่าวสารให้ประชาชน โดยไม่ตกเป็นเป้าหมายในการก่อวินาศกรรมหรือการข่มขู่ คุกคามและปองร้ายใด ๆ ในขณะเดียวกัน องค์กร สมาคมวิชาชีพสื่อและ องค์กรที่เป็นเจ้าของสื่อควรส่งเสริมและดูแลสวัสดิภาพของผู้สื่อข่าว ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงให้เพียงพอและเป็นมาตรฐานเดียวกัน

8.องค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับสื่อและสิทธิเสรีภาพ ควรรณรงค์ในประเด็นของความรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมกับการใช้เสรีภาพสื่อที่สร้างสรรค์และสอบทานได้
 
ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวทางคณาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประจักษ์ถึงความอุตสาหะ ความอดทนและความกังวลของสังคมในภาวะการณ์อันอ่อนไหวนี้ และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพยายามขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ สื่อทุกแขนงทุกประเภท กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมือง ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันผลักดันให้นำไปสู่การปฎิบัติจริงต่อไป.



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์