แปลง น้ำโคลนเป็นน้ำดื่ม พลิกวิกฤติเหยื่อโคลนถล่ม

ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเหตุพายุโคลนถล่ม


สุรัตน์ อัตตะ การเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากเหตุพายุโคลนถล่มในพื้นที่ ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด โดยความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาภาค 3 นั้น

นอกเหนือจากได้จัดส่งเครื่องจักรกลหนัก-เบา รวมทั้งยานพาหนะทุกชนิดเข้ามาเร่งฟื้นฟูแล้ว ยังได้ส่งชุดประปาสนามเคลื่อนที่ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำดื่มน้ำใช้ให้กับประชาชนที่ประสบอุกทกภัยในครั้งนี้ด้วย "น้ำถือเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดสำหรับพื้นที่ที่เกิดอุทุกภัย ทั้งน้ำกินและน้ำใช้ ฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดภัยธรรมชาติอุทกภัยในพื้นที่ใด เมื่อได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือ สิ่งแรกที่เราจัดส่งไปก่อนก็คือชุดประปาสนามเคลื่อนที่ อย่างที่ ต.แม่พูล ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด เราก็ได้ส่งชุดประปาสนามเคลื่อนที่มาทันทีหลังเกิดเหตุ ก่อนที่เครื่องจักรกลอื่นๆ จะตามมา" พ.อ.ยงยศ คงแถวทอง ผบ.หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (พิษณุโลก) สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าชุดประปาสนามเคลื่อนที่ กล่าวพร้อมระบุถึงจุดเด่นของรถผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มเคลื่อนที่ ซึ่งมูลค่ากว่า 30 ล้านบาทคันนี้ ว่า เป็นชุดผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มเพื่อใช้ในงานสนามและงานบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ได้โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องยนต์ต้นกำลังบนรถยนต์บรรทุกชนิดลากจูง โดยน้ำดิบจากห้วย คลอง หนอง บึง แม่น้ำลำธาร น้ำจากบ่อบาดาลหรือแม้กระทั่งน้ำจากอุทกภัยเพื่อนำไปผลิตน้ำสะอาดใน 2 ลักษณะ คือ น้ำสะอาดสำหรับดื่มกินและน้ำเพื่อการอุปโภค

สามารถผลิตน้ำประปาได้สูงถึง 15 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง หรือ 15,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตน้ำดื่มได้ถึง 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง


"ขีดความสามารถในการผลิตน้ำของรถคันนี้ สามารถผลิตน้ำประปาได้สูงถึง 15 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง หรือ 15,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตน้ำดื่มได้ถึง 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง" พ.อ.ยงยศ กล่าวถึงศักยภาพชุดประปาสนาม พร้อมระบุว่าในส่วนของรถลากจูงนั้น เป็นรถชนิดขับเคลื่อนสิบล้อ ด้วยเครื่องยนต์ดีเซล พวงมาลัยขวาพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีความกว้าง 2.450 เมตร ยาว 6.550 เมตร และสูง 2.790 เมตร ประกอบด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบ 4 จังหวะรอบ ปริมาณความจุกระบอกสูบ 9,830 ซีซี มีกำลัง 250 แรงม้า มีสมรรถนะสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 12,000 กิโลกรัม

ระบบการผลิตน้ำประปาและน้ำดื่ม


สำหรับระบบการผลิตน้ำประปาและน้ำดื่ม จะประกอบด้วยห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเก็บสารเคมี ห้องเครื่องจักรในการผลิตน้ำประปา ห้องเครื่องจักรผลิตน้ำดื่ม ถังเก็บน้ำดื่ม ถังตกตะกอน ถังกวนเร็ว-ช้าและกล่องเก็บสายสูบน้ำด้านข้างตัวรถจำนวน 2 กล่อง ส่วนการเดินเครื่องผลิตน้ำประปาและน้ำดื่ม พ.อ.ยงยศ อธิบายว่า เมื่อทุกอย่างอยู่ในระดับปกติ จึงทำการติดเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์ติดแล้ว จึงโยกเบรกเกอร์ส่งกระแสไฟฟ้าไปในระบบที่ตัวตู้ควบคุม ซึ่งจะมีไฟแสดงค่าของกระแสไฟที่หน้าตู้อาร์เอสที จากนั้นทำการเปิดระบบโดยปุ่มตู้ไปยังตำแหน่งออโต้ เพื่อให้ระบบทำงาน "ขั้นต่อไปให้นำสายดูดที่อยู่ในรถมาต่อเข้ากับปั๊มน้ำดิบในตัวรถ โดยปลายสายจุ่มลงในแหล่งน้ำดิบ โดยนำสายไฟต่อกับปลั๊กด้านข้างตู้ควบคุม เมื่อเปิดเครื่องน้ำจะถูกสูบเข้าระบบทันที โดยปั๊มดูดและปั๊มส่งจะช่วยกันทำงานส่งน้ำเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปรับอัตราการไหลของน้ำให้ได้ 15 ลบ.ม./ชม." พ.อ.ยงยศ อธิบายต่อว่า จากนั้นระบบจะทำงานอย่างอัตโนมัติ โดยปั๊มเคมีตัวที่ 1, 2 ,3, 4 จะทำการส่งสารเคมีเข้าระบบ โดยปั๊มตัวที่ 1 จะทำการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างด้วยปูนขาว หรือโซดาไฟ (naoh) แล้วส่งมายังปั๊มตัวที่ 2 เพื่อทำการตกตะกอน จากนั้นก็ส่งต่อไปยังปั๊มตัวที่ 3 เพื่อทำการแยกตะกอนกับน้ำออกจากกัน ก่อนสู่ปั๊มตัวที่ 4 เพื่อฆ่าเชื้อโรคโดยสารคลอรีน ก่อนสู่ปั๊มหัวจ่ายน้ำสะอาดสำหรับเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อไป "จริงๆ แล้วระบบการผลิตมีอยู่ 4 ขั้นตอนหลัก เริ่มจากการปรับสภาพน้ำดิบ หรือค่าพีเอช ที่ถูกสูบขึ้นมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้น้ำดิบมีสภาพเป็นด่างง่ายต่อการตกตะกอน จากนั้นก็จะนำมาฉีดสารเคมีเร่งให้เกิดตะกอนเพื่อจับตะกอนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ก่อนจะไปที่ถังตกตะกอนเพื่อแยกตะกอนออกจากน้ำ จากนั้นก็นำไปผ่านเข้าเครื่องกรองคาร์บอนเพื่อให้มีความใส ก่อนจะเติมคลอรีนเหลว (cl2) ลงไป เพื่อฆ่าเชื้อโรค" หัวหน้าชุดประปาสนามเคลื่อนที่ กล่าว ที่สำคัญชุดประปาสนามเคลื่อนที่ชุดนี้ จะยังคงปฏิบัติภารกิจผลิตน้ำประปาและน้ำดื่มสะอาด เพื่อบริการให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ



แหล่งข่าว : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์