ชีวประวัติ หม่อมศรีรัศมิ์(บุษบา) กลับสู่สามัญชน

ชีวประวัติ หม่อมศรีรัศมิ์(บุษบา) กลับสู่สามัญชน


เปิดเผยชีวประวัติ "สูงสุดคืนสู่สามัญ" ของ "พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์(บุษบา) สุวะดี" หลังขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์

ประวัติ "พลตรีหญิง ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี" (บุษบา สุวะดี) จากการรวบรวมของ "เว็บไซต์วิกิพีเดีย" ระบุว่าเกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2514 หรือพระอิสริยยศเดิม "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" ภายหลังขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ อันมีผลตั้งแต่วันที่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

"ชีวิตตอนต้น"

ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี (บุษบา สุวะดี) มีชื่อเล่นว่า "อี๊ด" เป็นธิดาคนที่สามของ "อภิรุจ" และ "วันทนีย์ สุวะดี" พื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงคราม มีพี่น้อง 5 คน โดย ศรีรัศมิ์เป็นบุตรคนที่สาม มีพี่สาวและพี่ชายคือ สุดาทิพย์ ม่วงนวล, ณรงค์ สุวะดี และน้องชายคือ ณัฐพล สุวะดี อดีตราชองครักษ์เวร ส่วนพลตำรวจโท พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เป็นน้าของเธอ

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ (บุษบา สุวะดี) เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลบ้านมหาชัย (อนุกูลราษฎร์) จังหวัดสมุทรสาคร สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป (หลักสูตร 4 ปี) เมื่อปี พ.ศ. 2540

และได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2545 และสำเร็จการศึกษาปริญญาโท หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (คหกรรมศาสตร์) ภาคพิเศษ สาขาวิชาการพัฒนาการครอบครัวและเด็ก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.94

"เข้าสู่พระราชวงศ์"

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ (บุษบา สุวะดี) เริ่มเข้าถวายการรับใช้ในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 โดยรับผิดชอบหน้าที่การงานในฐานะข้าราชการพลเรือนในพระองค์ นอกจากนี้ ยังได้ถวายงานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในด้านศิลปาชีพ และได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ต่อมาเข้ารับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น "หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา" เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544

บิดาและมารดาของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ (บุษบา สุวะดี) รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวได้รับพระราชทานนามสกุลจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารว่า "อัครพงศ์ปรีชา" เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 หม่อมศรีรัศมิ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547

และได้ประสูติกาล "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ" พระราชโอรส เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548 การนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนา หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

"ลาออกจากฐานันดรศักดิ์"

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงขอให้รัฐบาลริบนามสกุลพระราชทานของพระวรชายา ก่อนหน้านั้น มีการกวาดล้างญาติใกล้ชิดของพระองค์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยทั้งหมดกลับไปใช้สกุลเดิมก่อนพระราชทานคือ "เกิดอำแพง"

ต่อมาข้อมูลนามสกุลนั้นผิด เมื่อตรวจสอบแล้วจึงเปลี่ยนให้ใช้ชื่อสกุลว่า "สุวะดี" อันเป็นชื่อสกุลเดิมทีแท้จริง ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีมองว่า นี่อาจเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การหย่าร้างของทั้งสองพระองค์

วันที่ 12 ธันวาคมปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นลายลักษณ์อักษรว่าขอพระราชทานกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กรณียกิจ

กรณียกิจส่วนใหญ่ของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ (บุษบา สุวะดี) เมื่อครั้งดำรงอิสริยยศเป็น พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารนั้น จะเน้นในด้านครอบครัวและเด็กเป็นหลัก โดยโครงการแรกของคือ โครงการสายใยรักจากแม่สู่ลูก ที่รณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อมาได้มีดำริจัดต้ง โครงการศูนย์สามวัยสานสายใยรักแห่งครอบครัว

จัดตั้งขึ้นจากแนวคิดที่ว่า "ควรมีศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เน้นความต่อเนื่องเชื่อมโยง เป็นวงจรทุกช่วงวัย ภายใต้การดำเนินของหลักเหตุผล ตั้งแต่การสร้างความคิดรอบยอด (Concept) การกำหนดคำจำกัดความที่ชัดเจน (Definition) และการถ่ายทอดลงสู่ระดับต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม (Implementation) โดยคำนึงถึงปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ ตลอดจนข้อดี ข้อเสียต่างๆ มาดำเนินการในการให้บริการแก่ประชาชน”ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ประกอบกรณียกิจครั้งสุดท้ายในพิธีเปิดมหกรรม 9 ปี สายใยรักแห่งครอบครัว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2557

นอกจากนี้ยังมีดำริในการสร้าง "ศุโขโยคะ" ซึ่งเป็นโครงการเสริมสร้างสุขภาพ ณ พื้นที่ควบคุมในพระองค์ 904 ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเมื่อปี พ.ศ. 2554 เพื่อให้ข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้ประโยชน์ มีระบบการออกกำลังกายแบบ "ไจโรทานิก" (Gyrotonic) โดยกล่าวไว้ว่า "ไปเล่นที่เมืองนอกมา เห็นว่าอะไรดีก็นำเข้ามาให้ประชาชนได้เล่นกัน"ที่สุดศุโขโยคะ ได้ปิดตัวลงในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

"ด้านการต่างประเทศ"

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (พระยศในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ

"พระอิสริยยศ"

นางสาวศรีรัศมิ์ สุวะดี (9 ธันวาคม พ.ศ. 2514— 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544)

หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 — 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548)

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 — 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557)

ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (11 ธันวาคม พ.ศ. 2557 — 12 ธันวาคม พ.ศ.2557)

ท่านผู้หญิงบุษบา สุวะดี (12 ธันวาคม พ.ศ.2557 — ปัจจุบัน)







ชีวประวัติ หม่อมศรีรัศมิ์(บุษบา) กลับสู่สามัญชน


ชีวประวัติ หม่อมศรีรัศมิ์(บุษบา) กลับสู่สามัญชน


ชีวประวัติ หม่อมศรีรัศมิ์(บุษบา) กลับสู่สามัญชน


ชีวประวัติ หม่อมศรีรัศมิ์(บุษบา) กลับสู่สามัญชน


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์