ชาวหาดใหญ่ผวา “คาร์บอมบ์”ซ้ำอีกระลอก หลังรถยนต์ถูกโจรกรรม 15 คัน

สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงของเดือนรอมฎอน หน่วยข่าวความมั่นคงต่างอ้างสาเหตุว่า
 
เกิดจากการปลุกระดมของ “อุสตาซ” ต่อ “อาร์เคเค” ให้ปฏิบัติการในช่วงของเดือนรอมฎอน (ถือศีลอด) เพื่อที่จะได้บุญจากการก่อการร้าย เข่นฆ่าศัตรูมากกว่าในเวลาปกติถึง 10 เท่า ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคงจึงเชื่อว่า หลังเดือนรอมฎอน สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ร้ายวันละไม่ต่ำกว่า 3 เหตุการณ์ ซึ่งน่าจะเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาดอีกครั้งของหน่วยข่าวความมั่นคง เพราะหลังเดือนรอมฎอน สถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เช่น การก่อเหตุร้ายใน จ.นราธิวาส วันละ 4-5 เหตุการณ์ และการก่อเหตุร้ายใน จ.ปัตตานี วันละ 6-7 ครั้ง โดยเฉพาะการก่อวินาศกรรมโชว์รูมรถยนต์ ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
 
ซึ่งเป็นธุรกิจของ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เจ้าของโรงแรมซีเอส ปัตตานี และโรงแรมซีเอส ปัตตานี ที่ถูก “คาร์บอมบ์” เมื่อต้นเดือนสิงหาคม


จนโชว์รูมและรถยนต์ป้ายแดง 15 คัน วอดวายในกองเพลิง รวมทั้งการขว้างระเบิดใส่บ้านชาวไทยพุทธ ที่หมู่บ้านทุ่งคม อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ปฏิบัติการทั้งหมดทำให้เห็นว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “บีอาร์เอ็นฯ” เป็นหัวขบวน ยังมีเข็มมุ่งในการทำลายฐานทางเศรษฐกิจของคนไทยเชื้อสายจีน และการขับไล่คนไทยพุทธออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายวิธีการที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้ปฏิบัติการต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


ชาวหาดใหญ่ผวา “คาร์บอมบ์”ซ้ำอีกระลอก หลังรถยนต์ถูกโจรกรรม 15 คัน

สิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ ในขณะที่ยุทธวิธีของ “อาร์เคเค” ยังเป็นแบบเดิม ๆ ตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการก่อความไม่สงบครั้งใหม่ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้

ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระเบิดถังดับเพลิงฝังใต้ถนน การประกอบคาร์บอมบ์จากรถยนต์ที่โจรกรรมมา การซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร การขับรถประกบยิงเจ้าหน้าที่และประชาชน การเผาโรงเรียน การเผาทำลายโชว์รูม บริษัท ห้างร้าน และสิ่งสาธารณประโยชน์ การยิง และระเบิดหม้อแปลงไฟฟ้า การเผาเสาสัญญาณโทรศัพท์ การกราดยิงร้านน้ำชา และในระยะหลังมีการใช้ระเบิดมากขึ้น และในการประกอบระเบิดแต่ละครั้งมีการใช้น้ำมันเบนซิน เป็นตัวประกอบ เพื่อให้เกิดเพลิงไม้ สถานที่ซึ่งถูกระเบิดเพื่อเพิ่มความสูญเสียให้มากขึ้น

ในขณะที่วิธีการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงเป็นที่ผิดหวังต่อประชาชนในพื้นที่ เพราะยังไม่สามารถหยุดเหตุการณ์ร้ายให้ลดน้อยลงแต่อย่างใด
 
รวมทั้งไม่สามารถสร้างความสูญเสียให้กับ “อาร์เคเค” ที่ยังปฏิบัติการอย่างเสรีในทุกพื้นที่ที่พวกเขาต้องการทำ รวมทั้งหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งไม่เกิดเหตุร้าย วันนี้มีการก่อเหตุร้ายขึ้น เช่นใน อ.ยี่งอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส อ.กาบัง จ.ยะลา รวมทั้งการตรวจค้นหารถยนต์ ที่ กอ.รมน.แจ้งว่ามีจำนวน 15 คัน ที่ถูกโจรกรรมไปประกอบเป็น “คาร์บอมบ์” เพื่อรอโอกาสถล่มพื้นที่เป้าหมาย เวลาผ่านไป 1 เดือน ยังไม่พบว่ารถยนต์ที่เป็น “คาร์บอมบ์” ถูกซุกซ่อนในกระเป๋าเสื้อของ “อาร์เคเค” คนไหน ดังนั้นผู้คนในเมืองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังคงต้องผวากับ “คาร์บอมบ์” ทั้ง 15 คัน เพราะไม่รู้ว่าจะมาถึงเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ในวันไหน

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลและกองทัพได้ทำในวันนี้ เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ

การเร่งดำเนินการเตรียมจัดตั้งหน่วยงานใหม่คือ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือชื่อย่อว่า ศปก.จชต. โดยอ้างเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อตั้งหน่วยงานใหม่อย่างรีบเร่ง จนสวนทางกับความเห็นของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนักการเมืองส่วนหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งเป็นว่า ศปก.จชต. เป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งไม่เห็นประโยชน์อะไร ในการตั้ง ศปก.จชต.ขึ้นที่สวนรื่นฤดี กรุงเทพฯ เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่รายงานสถานการณ์ให้ทราบ และมีการสั่งการ จาก ศปก.จชต. ที่อยู่ในส่วนกลาง เพราะสุดท้ายอาจจะทำให้การตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ ล่าช้า และผิดพลาดมากยิ่งขึ้น


สิ่งที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้องให้มีการแก้ไขคือ การย้ายกำลังจากกองทัพภาค 1 ภาค 2 และ 3 ออกจากพื้นที่

และให้ใช้กำลังกองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยแทน เพราะกำลังจากกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นคนในภาคใต้ จะมีความเข้าใจในทุกเรื่องราวมากกว่ากำลังพลจากภาคอื่น ๆ คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการให้ ศอ.บต. เดินหน้าในมิติของงานด้านการพัฒนา และอื่น ๆ ตามที่ พ.ร.บ.ศอ.บต.กำหนดไว้ ประชาชนในพื้นที่ ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งไม่มีเหตุการร้าย แต่ทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของประชาชนกลับถูกเพิกเฉย

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การที่หน่วยข่าวความมั่นคงวิเคราะห์ว่า หลังเดือนรอมฎอนแล้ว สถานการณ์การก่อการร้ายจะลดลงนั้น เป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาด

การตั้ง ศปก.จชต. ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สถานการณ์ต่อจากนี้ไป การก่อเหตุร้ายจะทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายที่ชัดเจนคือ หมู่บ้านไทยพุทธและพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะมีการใช้ระเบิด ทั้งแบบ “คาร์บอมบ์” จยย. บอมบ์ และชนิดต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพราะ “บีอาร์เอ็นฯ” จับประเด็นของเงื่อนไขแห่งความ “ขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นระหว่าง กอ.รมน. กับ ศอ.บต. มาเป็นประเด็นการขยายผลต่อประชาชนในพื้นที่สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะเป็นบทสรุปอีกครั้งว่า ศปก.จชต. ซึ่งเป็นหน่วยงานดับไฟใต้ที่ตั้งขึ้นใหม่จากความต้องการของกองทัพ จะสามารถเป็น “พระเอก” หรือ “ยาวิเศษ” ในการดับไฟใต้ได้จริง หรือสุดท้ายเป็นแค่การทดลองยา โดยมีประชาชนและแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “หนูตะเภา” เพื่อการทดลองยาอีกครั้งเท่านั้น.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์