6ขวบ-อาบไฮเตอร์ อยากขาว แฉภัยโฆษณาทีวี

แนวร่วมเยาวชนฯแฉจัดเรตติ้งทีวีแล้วขึ้นคำเตือนไม่ได้ผล

หลังสำรวจพบเด็กสาวใหญ่ดูทีวีเพียงลำพัง ถึงเห็นเครื่องหมายเตือนก็ไม่สนใจ เผยละครทีวีตัวดีเพราะทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมมากที่สุด โดยเฉพาะฉากตบตี และร้องกรี๊ดๆ เวลาที่ไม่ได้ดังใจ จี้ให้เลื่อนเวลารายการที่ไม่เหมาะกับเด็กให้ไปออกหลัง 4 ทุ่ม ส่วนโฆษณาก็ส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กเช่นกัน ทั้งเหล้าและขนมขบเคี้ยว สุดช็อกด.ญ. 6 ขวบอาบไฮเตอร์ น้ำยาซักผ้าขาว เพราะเชื่อโฆษณาว่าผิวขาวแล้วจะสวย

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่สภาคริสตจักรแห่งประ เทศไทย แนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย
 
ประกอบด้วย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เครือข่ายประธานนักเรียน เครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา (V-Teen) เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม (Saf) เครือข่ายนิเทศศาสตร์ จัดแถลงเรื่อง "ดูดู๊ดูสื่อไทย ทำไมถึงทำกับเด็กได้" นายสาโรช จำปาศักดิ์ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายฯ รวมตัวกันสำรวจ การดูโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนอายุ 10-25 ปี เมื่อวันที่ 2-5 พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 565 คน พบกลุ่มตัวอย่างเกือบ 60% จะดูทีวีคนเดียว ดังนั้น เมื่อพบรายการที่ไม่เหมาะกับช่วงวัย เช่น ไม่เหมาะกับผู้ชมอายุต่ำกว่า 13 (น13) หรือ 18 (น18) รายการเฉพาะไม่เหมาะกับเด็กและเยาวชน (ฉ) ที่มีจะมีการขึ้นตำเตือน แต่เด็กอายุ 10-15 ปี จำนวน 58% จะดูตามปกติ เด็กอายุ 16-20 ปี จำนวน 81.6% ดูตามปกติเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่ดูทีวีกับผู้ปกครอง แล้วเจอรายการไม่เหมาะกับวัยแต่ดูโดยไม่เปลี่ยนช่องนั้น มีผู้ ปกครองเพียง 54.8% ที่พูดคุยให้คำแนะนำระหว่างดู

เมื่อถามถึงการแสดงละครฉากต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะสมถึงขั้นไม่เหมาะสมเลย

คือ ฉากข่มขืน 68.4% ฉากร้องกรี๊ดๆ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ 60.8% ฉากตบตีกัน 56.9% ฉากยิงกัน แทงกัน 54.7% เด็กและเยาวชน 62.9% เห็นว่าค่อนข้างจำเป็นถึงจำเป็นที่สุด ที่ต้องจัดเรตติ้งรายการทีวีตามเวลา ให้ละครหรือรายการที่มีความรุนแรง ออกอากาศช่วงที่เด็กส่วนใหญ่เข้านอนแล้ว ซึ่ง 52.4% อยากให้เด็กมีส่วนร่วมจัดเรตติ้งด้วย ส่วนความรู้สึกที่มีต่อละครปัจจุบัน 64.8% เห็นว่าค่อนข้างรุนแรง ถึงรุนแรงเกินไป

นายสาโรชกล่าวอีกว่า ฉากที่คิดว่ารุนแรง 8 อันดับแรก

คือ 1.ฉากตบตีกันนานๆ 2.ข่มขืน 3.ด่าทอ 4.ขว้างปาทำลายสิ่งของ 5.ล้อเลียนดูถูก คนแก่ ผู้หญิง เพศทางเลือก 6.แต่งกายโป๊ วับๆ แวมๆ 7.ดื่มเหล้า 8.กระโดดถีบ โดย 70.4% บอกว่า เคยเห็นเด็กๆ เลียนแบบการแสดงต่างๆ ในทีวี เช่น ร้องกรี๊ดๆ เวลาไม่พอใจ ด่ากัน ตบตีกัน เล่นเป็นพ่อ ผัวเมีย และกลุ่มตัวอย่าง 33.8% ยอมรับว่าตัวเองก็เคยอยากเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านี้

"เด็ก 10-15 ปี เกือบ 50% ยอมรับว่า โฆษณาขนมกรุบกรอบที่มีของแจกของแถม ทำให้อยากซื้อขนมมากถึงมากที่สุด และเจอโฆษณาเหล่านี้มากถึงมากที่สุดในรายการเด็กเกือบ 50% เช่นกัน ซึ่งทุกกลุ่มอายุ 46.4% พบโฆษณา 1900 ในลักษณะต่างๆ มากถึงมากที่สุดในทีวี ขณะที่ 42.2% ยืนยันว่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ มีผลจูงใจให้อยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เด็กและเยาวชน 53.7% ห่วงใยเด็กด้วยกันเอง ซึ่ง 60.8% ต้องการให้คุมการโฆษณาขนมกรุบกรอบที่มีของแจกของแถม การชิงโชค 77.4% อยากให้เจ้าของสถานีโทร ทัศน์มีความตระหนัก ช่วยกันแก้ปัญหา และ 76.6% คิดว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา" นายสาโรช กล่าว


น.ส.อาวีวรรณ สร้อยคำ อายุ 17 ปี ชั้น ม.6 ร.ร.เทพศิรินทร์ร่มเกล้า เครือข่ายเยาวชนสร้าง สรรค์สังคม กล่าวว่า

การแสดง การโฆษณาหรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทีวี มีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็กและเยาวชน ไม่ใช่แค่การมีพฤติกรรมรุนแรงเท่านั้น การฉายภาพซ้ำๆ เดิมๆ ก็ยิ่งตอกย้ำความคิด ความเชื่อ แบบในทีวีให้กับเด็ก น้องของตนอายุ 6 ขวบ ดูทีวี ดูโฆษณา ที่นำเสนอย้ำๆ ว่าคนผิวขาวถึงจะดูดี ดูสวย จึงใช้ไฮเตอร์อาบน้ำ ขณะที่เพื่อนบางคนเมื่อทานอาหารแล้วต้องล้วงคอให้อาเจียนออกมา หรือไม่ก็ทานยาระบายเพราะกลัวอ้วน ซึ่งทีวีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้น เนื่องจากสามารถหล่อหลอมคนในสังคมส่วนใหญ่ให้คล้อยตามได้

นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อายุ 22 ปี เครือข่ายเอดส์และเพศศึกษา กล่าวว่า
 
รายงานของหน่วยงานอาชญากรรมและยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ พ.ศ.2550 ระบุว่าไทยติดอยู่ในกลุ่ม 68 ประเทศที่มีสถิติการข่มขืนเพิ่มขึ้น จากการสำรวจใน 189 ประเทศทั่วโลก สอดคล้องกับสถิติการกระทำความผิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่เดือนต.ค. 2548-ก.ย. 2549 พบคดีที่เกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ อาทิ ทำร้ายร่าง กาย ข่มขืนฆ่ากันตาย สูงถึง 33,669 คดี ขณะที่ข้อมูลศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง มีผู้เข้ารับคำปรึกษาปัญหาข่มขืนกระทำชำเรา จากปี 2548 มี 51 ราย เพิ่มเป็น 140 ราย ในปี 2550 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว การทำร้ายร่างกายที่มี 44 ราย เพิ่มเป็น 191 รายในปี 2550 หรือสูงขึ้นเกิน 4 เท่าตัว

"คดีความรุนแรงทางเพศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ คิดว่าทำอะไรกับผู้หญิงก็ได้ ในกรณีข่มขืนมีหลายครั้งที่ผู้ถูกกระทำเลือกที่จะจบปัญหาด้วยการปิดเงียบ ไม่สู้คดี เพราะอายแล้วก็โทษตัวเอง หากผู้เสียหายตั้งครรภ์บางคนเลือกแก้ปัญหาด้วยการอยู่กินฉันสามีภรรยากับคู่กรณี สิ่งเหล่านี้มีส่วนให้การกดขี่ทางเพศในสังคมไทยเพิ่มสูงขึ้น น่าเสียดายที่สื่อ ซึ่งเป็นขุมพลังทางปัญญา สามารถชี้นำสังคมไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ดีขึ้น กลับทำให้ค่านิยมเรื่อง ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย เป็นเรื่องปกติจนถึงขั้นกลายเป็นเรื่องถูกต้องดีงามน่าชื่นชม"
นายวรภัทร กล่าว

นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ อายุ 21 ปี ประธานสภาเยาวชนกรุงเทพฯ กล่าวว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ เมื่อพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ ทำให้กรมประชาสัมพันธ์คิดว่าหมดอำนาจกำกับดูแลทีวี ประกาศการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาสื่อโทรทัศน์ (เรตติ้ง) ที่รายการ น13 ออกอากาศได้หลัง 20.00 น. รายการ น18 ออกอากาศได้หลัง 20.30 น. รายการเฉพาะ "ฉ" ออกอากาศหลัง 22.00 น. รวมถึงประกาศคุมโฆษณาขนมขบเคี้ยวในรายการสำหรับเด็ก จึงถูกฝ่าฝืน เกิดวิกฤตกับผู้บริโภคสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว

"รายการและโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน สามารถออกอากาศในเวลาที่เด็กและเยาวชนส่วนมากกำลังดูทีวี ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบและค่านิยมไม่พึงประสงค์ เรื่องอบายมุขและความรุนแรง ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ การพัฒนาเด็กต้องคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อม การรับรู้บริโภคข้อมูล ที่เหมาะสมแก่วิจารณญาณตามวัยวุฒิ เพื่อสร้างพื้นฐานทางความคิด สติปัญญา และอารมณ์ที่มีคุณภาพสมวัยบนพื้นฐานของสังคมคุณธรรมจริยธรรม และโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก (World Fit for Children)"
นายอรุณฉัตร กล่าว

นายอรุณฉัตรกล่าวอีกว่า เด็กและเยาวชนจึงต้องมารวมตัวกันในนาม "แนวร่วมเยาวชนสร้างสรรค์สื่อไทย"

เพื่อขอความจริงใจจากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องด้านโทรทัศน์ ให้แก้ปัญหาความรุนแรงบนหน้าจอ โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1.รัฐบาลควรเร่งหามาตรการเฉพาะหน้าในช่วงสุญญากาศเร็วที่สุด 2.ต้องมีมาตรการป้องกันแก้ปัญหาระยะยาว ทบทวนแนวทางจัดระดับความเหมาะสมของสื่อต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย ยึดการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้มีส่วนร่วมวางนโยบาย 3.ในอนาคตให้สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรที่เป็นอิสระเพื่อเป็นพื้นที่ของเด็ก เยาวชน ครอบครัว องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมในการพิจารณารายการโทรทัศน์ 4.ขอให้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ผู้ผลิตรายการ และผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการเดิม และร่วมมือกับทุกมาตร การที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชนและครอบ ครัว อย่าเห็นแก่ผลประกอบการจนลืมความรับผิดชอบต่อสังคม

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์