“พล.ต.ท.ชัจจ์” สั่ง รฟท.ศึกษาขึ้นค่ารถไฟชั้น 1, 2 อ้างอยากสะท้อนต้นทุนแท้จริง

“พล.ต.ท.ชัจจ์” สั่ง รฟท.ศึกษาขึ้นค่ารถไฟชั้น 1, 2 อ้างอยากสะท้อนต้นทุนแท้จริง

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

เปิดเผยว่าได้ให้ฝ่ายบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟ เนื่องจากค่าโดยสารรถไฟปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระในการชดเชยรายได้ให้กับ รฟท. โดยให้นโยบายการพิจารณาการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟ จะไม่ให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อย คือ อาจให้ปรับขึ้นราคารถไฟชั้น 1 และชั้น 2 ส่วนชั้น 3 อาจจะไม่ให้ปรับขึ้นราคา เนื่องจากเป็นชั้นที่ผู้มีรายได้น้อยใช้บริการมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ รฟท. เคยอนุมัติปรับขึ้นราคาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2553
 
แต่กระทรวงคมนาคมไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคา จึงทำให้ รฟท. ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ โดยผลการศึกษาอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาครั้งนั้นให้ปรับขึ้นเฉพาะรถไฟชั้น 3 จะทำให้ รฟท. มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 114 ล้านบาท สาเหตุที่ชะลอการปรับค่าโดยสารชั้น 1 และชั้น 2 เพราะอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันค่อนข้างสูง หากปรับเพิ่มอาจส่งผลให้ผู้โดยสารรถไฟชั้น 1 และชั้น 2 ลดลง เพราะประชาชนสามารถเลือกใช้บริการระบบขนส่งอื่นที่มีอัตราค่าโดยสารใกล้เคียงกันแทน 

อย่างไรก็ตาม หากการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารรอบใหม่ ปรับขึ้นราคาเฉพาะชั้น 1 และ 2

ตามนโยบายของ พล.ต.ท.ชัจจ์ จะส่งผลให้ค่าโดยสารชั้น 1 และชั้น 2 ที่อาจให้ปรับขึ้นร้อยละ 10 ตามผลการศึกษาเดิม จะทำให้ค่าโดยสารชั้น 1 ในระยะทาง 100 กม.แรก เพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 1.025 บาท จากเดิม กม.ละ 0.932 บาท ส่วนระยะทางตั้งแต่ 101-200 กม. จะเพิ่มเป็น กม.ละ 0.938 บาท จากเดิม 0.853 บาท ระยะทางตั้งแต่ 201-300 กม. เพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 0.864 บาท จากเดิม 0.785 บาท และระยะทางตั้งแต่ 301 กม.ขึ้นไป เพิ่มเป็น กม.ละ 0.813 บาท จากเดิม กม.ละ 0.739 บาท ส่วนค่าโดยสารรถไฟชั้น 2 ระยะทาง 100 กม.แรก จะเพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 0.537 บาท จากปัจจุบัน กม.ละ 0.488 บาท ระยะทางตั้งแต่ 101-200 กม. เพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 0.462 บาท จากเดิม กม.ละ 0.420 บาท ระยะทางตั้งแต่ 201-300 กม. เพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 0.413 บาท จากเดิม กม.ละ 0.375 บาท และระยะทางตั้งแต่ 301 กม.ขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 0.370 บาท จากเดิม กม.ละ 0.336 บาท

ทั้งนี้ หากให้ค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ปรับขึ้นราคาร้อยละ 10 ด้วย

 จะส่งผลให้ระยะทาง 100 กม. แรกเพิ่มขึ้นเป็น กม.ละ 0.237 บาท จากเดิม 0.215 บาท โดยค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ยังคงเป็นโครงสร้างที่ใช้เมื่อปี 2528 และ รฟท.ได้รับอนุมัติให้ปรับค่าโดยสารครั้งล่าสุดในปี 2539 โดยปรับเฉพาะค่าโดยสารรถไฟชั้น 1 และชั้น 2 เท่านั้น ซึ่งในช่วงนั้นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วราคาลิตรละประมาณ 8 บาท แต่ปัจจุบันมีราคาลิตรละ 30.43 บาท ส่งผลให้ รฟท.มีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่การขนส่งทางถนนได้ปรับค่าโดยสารให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันอยู่ตลอดเวลา

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า
 
บขส.ได้ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารในวันที่ 15 พ.ค. ในอัตรา 4 สต.ต่อกิโลเมตร ซึ่งไม่มีผู้โดยสารโวยวาย เพราะเข้าใจว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการใช้บริการยังปกติ คาดว่าอัตราค่าโดยสารที่ปรับเพิ่มขึ้น จะทำให้ บขส.สามารถประคองตัวอยู่ได้ แต่หากเหตุการณ์ในอนาคตค่าเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงอีก จำเป็นต้องไปพิจารณาในช่วงนั้น ตอนนี้คงไม่สามารถระบุได้.- สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์