วานนี้ (12 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่าเปิดเผยเมื่อวันอังคารว่า
ในช่วง 5 วันของการเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขึ้นนองเลือดทางศาสนาระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ มีผู้เสียชีวิตราว 25 ศพ และได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน แต่แหล่งข่าวไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนว่า พวกเขาเสียชีวิตอย่างไร และผู้ที่เสียชีวิตเป็นชาวพุทธหรือชาวมุสลิม
ขณะเดียวกัน ประชาคมโลกโหมกดดันพม่าให้ยุติความรุนแรงทางศาสนาในด้านตะวันตกของประเทศ
โดยสหรัฐเรียกร้องให้หยุดความไม่สงบทางศาสนาทันที นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น และกล่าวว่า สหรัฐวิตกอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชน”ฮิวแมน ไรท์ วอทช์” กล่าวเตือนว่า ความรุนแรงในพม่ากำลังจะควบคุมไม่อยู่ พร้อมกับเรียกร้องส่งคณะผู้สังเกตการณ์นานาชาติเข้าไปยังรัฐยะไข่ เพื่อเตือนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังถูกโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด
ด้าน พ.ต.ชาฟิกูร์ ราห์มาน เจ้าหน้าที่ของหน่วยพิทักษ์พรมแดนบังกลาเทศหรือบอร์เดอร์ การ์ด บังกลาเทศ (บีจีบี)เปิดเผยว่า
เจ้าหน้าที่ของบีจีบีได้เข้าขัดขวางเรือ 3 ลำของชาวโรฮิงญา ขณะพยายามแล่นเข้าสู่น่านน้ำบังกลาเทศเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้โดยสารบนเรือมีทั้งสิ้น 103 คน รวมทั้งผู้หญิงกับเด็ก 81 คน ที่มาจากเมืองซิตตเว ในรัฐยะไข่ของพม่า ก่อนส่งผู้อพยพทั้งหมดกลับประเทศ พ.ต.ราห์มานกล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมา บังกลาเทศได้ผลักดันเรือของชาวโรฮิงญาไปแล้ว 11 ลำ ที่บรรทุกผู้โดยสารกว่า 400 คน
ทั้งนี้ เมืองซิตตเว เป็นเมืองเอกของรัฐยะไข่ในพม่า เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทำให้ทางการพม่าต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่ เช่นเดียวกับทางการบังกลาเทศเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตามแนวพรมแดนที่ติดกับพม่าเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตร เพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของผู้อพยพชาวโรฮิงญา ทั้งนี้ สหประชาชาติประเมินว่า ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในพม่าเกือบ 800,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่ และอีกราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ