เปิดประวัติ เอบราฮิม ไรซี กับเส้นทางสู่ประธานาธิบดีอิหร่านสายแข็ง


เปิดประวัติ เอบราฮิม ไรซี กับเส้นทางสู่ประธานาธิบดีอิหร่านสายแข็ง

เอบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีของอิหร่าน ซึ่งประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกใกล้ชายแดนอาเซอร์ไบจาน เป็นผู้นำสายหัวรุนแรงที่มีบทบาทสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนอิหร่านให้กลับไปสู่ความเชื่อที่แน่วแน่ของผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลาม

ไรซียังได้แสดงจุดยืนที่ก้าวร้าวมากขึ้น และเลือกที่จะโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธและโดรนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศเข้าใกล้ความขัดแย้งโดยตรงและเปิดเผยเป็นครั้งแรก

เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในเดือนมิถุนายน 2021 โดยประกาศว่าตนเป็นบุคคลที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับการคอร์รัปชันและปัญหาเศรษฐกิจของอิหร่าน

ตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านนั้น ถ้าเทียบก็เป็นเหมือนเบอร์ 2 เพราะตำแหน่งที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางประเทศอิหร่านนั้นจริง ๆ แล้วคือ ผู้นำสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเป็นของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี

แต่ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 อย่างนี้ ไรซีดำรงตำแหน่งสำคัญในอิหร่านมายาวนาน รวมถึงบทบาทสำคัญที่เรียกว่า "คณะกรรมการประหารชีวิต" (Death Committee) ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบในการประหารชีวิตผู้คนหลายพันคนในช่วงทศวรรษ 1980 (แต่เขาปฏิเสธมาโดยตลอด)



ไรซีเกิดในปี 1960 ในครอบครัวนักบวชในเมืองมัชฮัด (Mashhad) เป็นลูกของสมาชิกแนวร่วมปฏิวัติต่อต้านราชวงศ์อิหร่าน และด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์อันเข้มข้น ทำให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมของศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี ตามรอยพ่อของเขา

ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา เขาได้เข้าร่วมการประท้วงครั้งใหญ่ต่อต้านชาห์ (ตำแหน่งผู้นำราชวงศ์อิหร่าน) ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกในปี 1979 ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติอิสลามภายใต้การแนะนำของ อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี อดีตผู้นำสูงสุดอิหร่าน

ในช่วงปีแรกอันวุ่นวายของการปฏิวัติอิสลาม ไรซีศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชาฮิดโมตาฮารี (Shahid Motahari) ในกรุงเตหะราน ซึ่งเขาได้รับปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์และกฎหมายอิสลาม

ต่อมาเมื่ออายุ 25 ปี ไรซีเข้าร่วมกับฝ่ายตุลาการ และขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญอย่างรวดเร็ว โดยได้เป็นรองอัยการของเตหะราน




เปิดประวัติ เอบราฮิม ไรซี กับเส้นทางสู่ประธานาธิบดีอิหร่านสายแข็ง

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ในขณะที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เขาได้กลายเป็นหนึ่งในผู้พิพากษา 4 คนที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการประหารชีวิตเพื่อพิจารณาคดีนักโทษหลายพันคน

ในเวลาต่อมา ไรซีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าอัยการของเตหะราน จากนั้นเป็นหัวหน้าองค์กรตรวจราชการของรัฐ กระทั่งในปี 2006 เขาได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) ซึ่งมีหน้าที่แต่งตั้งและดูแลผู้นำสูงสุด สมาชิกของสภานี้จะต้อวได้รับอนุมัติจากสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council)

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในปี 2009 ได้ก่อให้เกิดการประท้วงในประเทศต่อเนื่องหลายเดือน ซึ่งไรซีจัดการด้วยการปราบปรามอย่างโหดร้ายและกักขังผู้ประท้วงจำนวนมาก เขากลายเป็นอัยการสูงสุดของประเทศในปี 2014 และถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรในปี 2019 จากบทบาทของเขาในการปราบปรามด้วยความรุนแรง


เปิดประวัติ เอบราฮิม ไรซี กับเส้นทางสู่ประธานาธิบดีอิหร่านสายแข็ง

จนปี 2021 เมื่อเขาชนะการเลือกตั้ง เป็นสัญญาณการกลับมาของกลุ่มอนุรักษ์นิยมขั้นสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งกลุ่มนี้ต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำกับมหาอำนาจโลกเพื่อผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร

แต่ภายใต้การนำของไรซี เขาสั่งงเดินหน้าการพัฒนาและเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในระดับเกือบเป็นเกรดทำอาวุธ และขัดขวางการตรวจสอบระหว่างประเทศ

ไรซีถูกมองว่าอาจจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดอิหร่านต่อจากคาเมเนอี โดยผู้นำสูงสุดเคยแสดงการสนับสนุนไรซีด้วยการแต่งตั้งเขาเป็นรองหัวหน้าสภาผู้เชี่ยวชาญในปี 2019 ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญที่นำไปสู่การคว้าชัยเลือกตั้ง 2021 แม้จะเป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิหร่านก็ตาม

อิหร่านภายใต้ไรซีได้จัดหาอาวุธให้กับรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน ใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล และสนับสนุนอาวุธให้กับกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง เช่น กลุ่มฮูตีในเยเมน และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน



เครดิตแหล่งข้อมูล : pptvhd36 ,  The Guardian




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์