เกิดอะไรขึ้นในคลินิก “ลองโควิด” ที่ดูแลอาการข้างเคียงหลังหมดเชื้อ
"คุณอยู่กับความหวังว่าจะมีอาการดีขึ้น" แซสกล่าวกับบีบีซีขณะพักจากการทำกายภาพบำบัดที่ศูนย์ลองโควิด (long Covid) ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยครอยดอน
"สำหรับผม เป้าหมายคือการกลับไปทำงานและแค่เล่นกับลูก ๆ ได้ มันอาจจะใช้เวลาแต่หลายคนก็มีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นก็ยังมีความหวังว่าผมจะหายได้"
"ลองโควิด" (Long Covid) ภาวะที่ผู้หายจากโควิด-19 บางคนเผชิญที่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังไม่เข้าใจ และก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าเกณฑ์ที่จะวัดว่าเป็นอาการนี้คืออะไร เหนื่อยล้า ไอ ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ คือบางอาการที่มีภาวะนี้บางคนต้องเผชิญ
หลังจากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ 2 สัปดาห์ในแผนกผู้ป่วยหนัก อาการของแซสเริ่มดีขึ้นและคิดว่าตัวเองจะหายเป็นปกติ
แต่แล้วในเดือน ก.ย. แค่อาการหวัดที่เขาคิดว่าน่าจะติดจากลูกที่ไปโรงเรียนมาทำให้เขาล้มป่วยจนทรุดไปเลย
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาต้องรับมือกับอาการป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นความเหนื่อยล้า ปวดหลัง และความรู้สึกปวดจี๊ดที่ขา "เหมือนกับตอนที่คุณเป็นไข้หวัดใหญ่ และไม่สามารถขยับตัวได้เลย ปวดไปทั้งร่างกาย"
"คุณจะรู้สึกเหนื่อยล้ามาก นอกจากนั้นผมยังรู้สึกว่าสมองคิดอะไรไม่ออกอีก ไม่สามารถคิดคำที่จะพูดออก ไม่สามารถพูดอะไรเป็นประโยคได้"
ในห้องออกกำลังกายที่คลินิกในโรงพยาบาลแห่งนี้ แซสและคนไข้ลองโควิดอีกสองคนค่อย ๆ บริหารร่างกายโดยสลับระหว่างใช้บาร์คู่ขนานสำหรับฝึกเดิน ลู่วิ่ง และยกน้ำหนัก
คนไข้เหล่านี้มีนักกายภาพบำบัดคอยช่วยเหลือ แม้ว่าพวกเขาจะมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูร่างกาย แต่ก็อดรู้สึกหงุดหงิดไม่ได้ที่ต้องใช้เวลายาวนานเหลือเกิน
"มีสองสามครั้งที่ผมรู้สึกเหมือนจะล้มคะมำ" แซส บอกกับนักกายภาพบำบัดที่ดูแลเขา "ผมกะระยะใกล้-ไกลไม่ถูก และรู้สึกเหมือนขากำลังจะหมดแรง"
ดร.โยกินี ราสเต แพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจและผู้ดูคลินิกที่ครอยดอนแห่งนี้ บอกว่า พบคนไข้หลากหลายมาก ทั้งที่อยู่ในแผนกผู้ป่วยหนักมาหลายสัปดาห์ ไปจนถึงคนที่ไม่เคยไปตรวจเชื้อระหว่างการระบาดระลอกแรกและนึกว่าตัวเองจะดีขึ้นแต่กลับมามีอาการแปลก ๆ หลายอย่างภายหลัง
สำนักงานสถิติแห่งชาติในสหราชอาณาจักรระบุว่า คนราว 1 ใน 5 มีอาการลองโควิดหลังจากติดเชื้อครั้งแรกไปแล้ว 5 สัปดาห์
ในช่วง 4 สัปดาห์หลังจากวันที่ 6 ก.พ. เป็นต้นมา คาดว่า มีคนราว 1.1 ล้านคนในสหราชอาณาจักรที่เผชิญอาการนี้ คนราว 20% บอกว่าอาการเรื้อรังนี้เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
แบบสำรวจชี้ว่า คนอายุระหว่าง 35 ถึง 49 ปี มีแนวโน้มมีอาการนี้มากที่สุด ตามมาด้วยคนอายุระหว่าง 50 ถึง 69 ปี โดยผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีอาการนี้มากกว่า
นอกจากนี้ แบบสำรวจยังพบว่า ผู้ที่ทำงานด้านการดูแลคนและในภาคสาธารณสุขมีอัตราการมีอาการนี้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะมีความรู้เรื่องปัญหานี้ดี และก็เสี่ยงต้องเจอเชื้อไวรัสมากกว่าคนทั่วไป
"เราไม่สามารถบอกคนไข้เหล่านี้ได้ว่าจะมีอาการแบบนี้ไปนานเท่าไร ...อาจจะมีสองสามสัปดาห์ที่รู้สึกว่าอาการกำลังจะดีขึ้น จากนั้น ขณะที่พวกเขากำลังจะออกมาจากอุโมงค์ ก็ต้องเจออุปสรรคอีกครั้ง และแค่เรื่องนี้อย่างเดียว [การคอยลุ้นอาการ] ก็ทำให้คนวิตกกังวลมาก"
และคนไข้บางคนก็ถูกส่งตัวไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ประสาท และระบบการหายใจ ช่วยดูแล
ตอนนี้ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service-NHS) วางแผนจะเปิดคลินิกเพื่อดูแลผู้ป่วยลองโควิด 83 แห่งทั่วอังกฤษภายใน เม.ย. โดยจะใช้เงิน 24 ล้านปอนด์
สนับสนุนมากขึ้น
ขณะนี้ผู้ป่วยลองโควิดหลายคนบอกว่ายังต้องพึ่งข้อมูลและคำแนะนำบนอินเทอร์เน็ตอยู่
"คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับคำตอบ และพวกเราก็เข้าใจดีว่าบางทีมันก็ยังไม่มีคำตอบเรื่องนี้" เอซิม คนไข้ที่กำลังทำกายภาพบำบัดบอก
"ถ้าคุณลองดูแพลตฟอร์มบนโซเชียลมีเดีย จะเห็นกลุ่มที่ตั้งมาเพื่อให้การสนับสนุนหลายกลุ่ม เราต้องคาดเดาและก็เป็นหมอให้กับตัวเอง"
"ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ คนต้องเชื่อในสิ่งที่เรากำลังเผชิญมากขึ้น และให้การสนับสนุนเรามากขึ้น"