รำลึกเจ้าชายฟิลิป จากรักแรกพบสู่ผู้เคียงข้างราชบัลลังก์
แต่รู้หรือไม่ว่า บนเส้นทางชีวิตที่หลายคนคุ้นภาพของ "เจ้าชายฟิลิป" ผู้อยู่เคียงข้างพระราชินีของอังกฤษนั้น แท้ที่จริงแล้ว พระองค์ต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง..
เจ้าชายผู้พลัดบัลลังก์
เจ้าชายฟิลิปประสูติที่เกาะกรีก ในคอร์ฟู เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี ค.ศ.1921 ทรงประสูติในราชวงศ์กรีซและเดนมาร์ก เติบโตมาพร้อมกับพระราชอิสริยศักดิ์ "ปรินซ์ ฟิลิป ออฟ กรีซ แอนด์ เดนมาร์ก" โดยสืบเชื้อสายตรงมาจากราชวงศ์กรีซ และเป็นหลานทวดของพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับควีนเอลิซาเบธที่ 2
แต่ในระหว่างที่ยังเป็นทารก ราชวงศ์ของพระองค์ต้องเสด็จหนีภัยการเมืองออกจากราชอาณาจักรกรีซ หลังพระปิตุลา คือ กษัตริย์คอนสแตนตินที่ 1 แห่งกรีซ ถูกรัฐบาลทหารปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ และกดดันให้สละราชสมบัติ ขณะที่พระบิดาของเจ้าชาย คือ "เจ้าชายแอนดรูว์ แห่งกรีซ และเดนมาร์ก" รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงถูกจับกุมขัง และต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ประเทศฝรั่งเศสในที่สุด พี่สาวทั้ง 4 คนของเจ้าชาย ก็สมรสกับเจ้าชายเยอรมัน และย้ายรกรากไปอยู่ในเยอรมนี ขณะที่พระมารดาของเจ้าชาย คือ "เจ้าหญิงอลิซ แห่งแบทเทนเบิร์ก" ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลจิตเวช เพราะป่วยเป็นโรคประสาทรุนแรง
ทำให้ชีวิตในช่วงวัยเด็กของ "เจ้าชายฟิลิป" ทรงเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติของอเมริกา ในกรุงปารีส ต่อมาจึงถูกส่งตัวไปเรียนชั้นประถมที่สหราชอาณาจักร โดยเติบโตมาในพระราชวังเคนซิงตัน ภายใต้การเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดของคุณลุง "จอร์จ เมานท์แบทเทน" ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของเจ้าชาย ด้วยความที่พี่สาวทั้ง 4 คน สมรสกับเจ้าชายเยอรมัน จึงชักชวนให้น้องชายคนเล็กไปเรียนหนังสือที่เยอรมนีด้วย แต่เรียนได้แค่ปีเดียว คุณลุงก็เรียกตัวกลับ และตัดสินใจให้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนกอร์ดอนสโตน ในสกอตแลนด์ จนจบชั้นมัธยม จากนั้นเจ้าชายได้เดินตามความฝันที่อยากเป็นลูกนาวี โดยสอบเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยทหารเรือดาร์ทมัธหลังจบจากโรงเรียนกอร์ดอนสตันในปี ค.ศ.1939 เจ้าชายฟิลิปในวัย 18 ชันษาเข้าศึกษาที่ราชนาวิกวิทยาลัยเป็นเวลาหนึ่งภาคเรียน แล้วจึงถูกส่งตัวกลับประเทศกรีซไปอยู่กับพระมารดาเป็นเวลาราวหนึ่งเดือนที่กรุงเอเธนส์ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 2 แห่งกรีซ สั่งให้เจ้าชายกลับอังกฤษ พระองค์จึงเสด็จกลับอังกฤษในเดือนกันยายนและเข้าเป็นนายเรือฝึกหัดในราชนาวีอังกฤษ พระองค์จบการศึกษาจากราชนาวิกวิทยาลัยในปีถัดมา พร้อมกับถูกยกย่องว่าเป็น "นักเรียนนายร้อยที่เก่งและดีที่สุดในกลุ่มร้อยโท" คนแรกของกองทัพเรือ
ในฐานะทหารเรืออังกฤษ "เจ้าชายฟิลิป" เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองโดยปฏิบัติหน้าที่ในกองเรือเมดิเตอร์เรเนียนและกองเรือแปซิฟิก ภายหลังสงครามสิ้นสุด ทรงได้รับพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธได้ พระองค์ทรงสละฐานันดรทั้งหมดของกรีซและเดนมาร์ก และกลายเป็นสามัญชนข้าแผ่นดินสหราชอาณาจักร โดยเจ้าชายฟิลิปได้รับพระราชทานยศขุนนางเป็นดยุคแห่งเอดินบะระ, เอิร์ลแห่งเมริออเน็ต และบารอนกรีนวิช แล้วจึงได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947
อย่างไรก็ดี หลังจากควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี1953 "เจ้าชายฟิลิป" ได้ทรงหันหลังให้กองทัพราชนาวีอย่างเด็ดขาดเพื่อมาทำหน้าที่ปรินซ์ คอนสอร์ท ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจจากองค์พระประมุขของอังกฤษ กระนั้น ก็ทรงได้รับการติดพระยศพลอากาศเอกประจำกองทัพอากาศสหราช อาณาจักร และทรงหันมาทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกบินเพื่อเป็นการชดเชยมีการเล่าขานจนเป็นเลิฟสตอรี่แห่งวินด์เซอร์ว่า "เจ้าหญิงเอลิซาเบธ" ทรงตกหลุมรัก "เจ้าชายฟิลิป" ตั้งแต่แรกเห็น และนับแต่นั้นมา ทั้งคู่ก็เริ่มเขียนจดหมายรักถึงกัน กระทั่งในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ.1946 ขณะที่ "เจ้าหญิงเอลิซาเบธ" มีพระชนม์ 20 ชันษา "เจ้าชายฟิลิป" ได้ทูลขอ "พระเจ้าจอร์จที่ 6" เพื่อเสกสมรสกับพระธิดาองค์โต
โดยมีเงื่อนไขของการประกาศหมั้นหมายอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นได้ เมื่อ "เจ้าหญิงเอลิซาเบธ" ทรงมีพระชันษาครบ 21 ชันษาเต็ม ในเดือน เม.ย. ปี ค.ศ.1947 ระหว่างนั้น "เจ้าชายฟิลิป" ต้องสละพระอิสริยยศทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับราชวงศ์กรีซ และเดนมาร์ก หันมาใช้นามสกุลของลุง คือ "เมานต์แบ็ตเทน" ซึ่งแปลงมาจากนามสกุลเยอรมัน "บัทเทินแบร์ค" ขณะเดียวกัน ก็ทรงเปลี่ยนศาสนาจากนิกายกรีก ออร์ทอดอกซ์ มาเป็นเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ พร้อมทั้งเปลี่ยนสัญชาติเป็นอังกฤษเต็มตัวการประกาศหมั้น หมายอย่างเป็นทางการของทั้งคู่ มีขึ้นในวันที่ 10 ก.ค. 1947 ก่อนจะจัดพิธีเสกสมรสอย่างยิ่งใหญ่ ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เช้าวันที่ 20 พ.ย.1947 มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี เพื่อให้ผู้ชม 200 ล้านคนทั่วโลก ได้ติดตามชมอย่างใกล้ชิด
1.เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์
2.เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี
3.เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุคแห่งยอร์ก
4.เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กซ์
นอกจากนี้ ทั้งสองพระองค์ยังมี พระราชนัดดา (หลาน) 8 พระองค์ และพระราชปนัดดา (เหลน) 9 พระองค์
หลังจากรับใช้ราชวงศ์วินด์เซอร์มาหลายทศวรรษ ช่วยแบ่งเบาพระราชภารกิจน้อยใหญ่ไม่เคยขาด เมื่อปลายปี 2017 "เจ้าชายฟิลิป" ทรงประกาศรีไทร์จากการปฏิบัติพระกรณียกิจทุกอย่าง ขณะ 97 พรรษา เนื่องจากมีพระชนมายุมากแล้ว โดยปี 2018 ทรงเข้ารับการผ่าตัดสะโพกครั้งใหญ่ และหลังจากนั้นก็มีอาการประชวรเป็นระยะๆ กระทั่งกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทรงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลคิง เอ็ดเวิร์ดที่ 7 โดยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนาน 1 เดือน ก่อนที่คณะแพทย์จะอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ เมื่อวันที่ 16 มี.ค. และพระองค์เสด็จไปประทับพักฟื้น ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ในแคว้นเบิร์กเชียร์ ทางภาคใต้ของเกาะอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง ควีนเอลิซาเบธที่สอง และ เจ้าชายฟิลิป ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่พระราชวังวินด์เซอร์ หลังย้ายออกจากพระราชวังบัคกิงแฮม ซึ่งทางสำนักพระราชวังยืนยันเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โด๊สแรกแล้ว
และเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันที่นำมาสู่ความโศกเศร้า เมื่อสำนักพระราชวังบัคกิงแฮม ในกรุงลอนดอน ได้เปิดเผยว่า เจ้าชายฟิลิป สิ้นพระชนม์แล้ว..
กว่า 7 ทศวรรษที่ทรงทำหน้าที่พรินซ์ คอนสอร์ท "เจ้าชายฟิลิป" ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระบรมราชินีเอลิซาเบธที่สอง ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน โดยเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆทั่วโลกมาแล้ว 143 ประเทศ และปฏิบัติพระกรณียกิจมากกว่า 22,219 งาน ตามรายงานของบั๊กกิ้งแฮมระบุว่า "ดยุคแห่งเอดินเบอระ" ทรงเป็นพระราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ปฏิบัติพระกรณียกิจมากที่สุดถึงปีละ 300 งาน ขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นองค์ประธานอุปถัมภ์องค์กรการกุศลมากกว่า 800 องค์กร และ "ในปัจจุบันยังได้รับการบันทึกให้เป็นพรินซ์ คอนสอร์ท ที่อยู่เคียงข้างองค์พระประมุขยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์" อีกด้วย...