เจาะขุมทรัพย์ธุรกิจ ‘มิน อ่อง หล่าย’
กองทัพเมียนมาให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องทำการรัฐประหาร มาจากการโกงเลือกตั้งครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบก็เพิกเฉยกับข้อกล่าวหาดังกล่าว กองทัพเมียนมาจึงต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อความมั่นคงของชาติ โดยบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี แต่งตั้งประธานาธิบดีรักษาการ พร้อมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ยังถูกหลายฝ่ายจับตาว่า อาจเกี่ยวข้องกับคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายทหารที่ลดน้อยลงสวนทางกับความนิยมพรรคเอ็นแอลดีที่เพิ่มสูงขึ้นมากในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนทำให้อาจเกิดความกังวลใจว่า พรรคเอ็นแอลดีอาจใช้ความนิยมของประชาชนเป็นเหตุผลในการเข้าไปจัดการกองทัพเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาถูกเปิดเผยว่า มีกลไกผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ซับซ้อนและมีมูลค่ามหาศาล โดยศูนย์กลางของผลประโยชน์ภายในกองทัพเมียนมา หนีไม่พ้นพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
วันนี้ workpointTODAY จึงรวบรวมธุรกิจที่อาจเกี่ยวข้องกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา และธุรกิจของครอบครัวผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตามการเปิดเผยของสื่อมวลชนและหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่า เครือข่ายธุรกิจเหล่านี้อาจมีบางส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองทัพเมียนมาด้วย
เครือข่ายธุรกิจกองทัพ รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของเมียนมา
กองทัพเมียนมาดูแลรัฐวิสาหกิจสำคัญอย่างน้อย 2 แห่ง ซึ่งทั้งสองแห่งถูกขนานนามว่า เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ ของเมียนมา โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ภายใต้กองทัพเมียนมา ได้แก่
1.) Myanma Economic Holdings Limited (MEHL)
2.) Myanmar Economic Corporation (MEC)
โดยทั้งสองแห่งทำธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ท่าเรือ เหมืองแร่ ธนาคาร ประกันภัย ขนส่ง เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เป็นพันธมิตรของแบรนด์เบียร์รายใหญ่ระดับโลกหลายยี่ห้อ
ข้อมูลจากการสอบสวนของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) พบว่ารัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งในความดูแลของกองทัพเมียนมา มีความเกี่ยวข้องกับอย่างน้อย 106 บริษัทในหลากหลายธุรกิจของเมียนมา โดยรายได้จากรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งทำให้กองทัพเมียนมามีอิสระทางการเงินจากรัฐบาล ซึ่งกองทัพเมียนมาอาจนำรายได้ดังกล่าวไปใช้กับนโยบายที่อาจละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล
โดยเฉพาะบริษัท Myanma Economic Holdings Limited (MEHL) ที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่าอาจเป็นธุรกิจที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพเมียนมา
รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อปีที่แล้วเปิดเผยว่า บริษัท MEHL จ่ายเงินให้กับบุคลากรของกองทัพเมียนมาไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 540,000 ล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผ่านการเข้าไปบริหารและถือหุ้นบริษัทของผู้นำกองทัพเมียนมา
นอกจากนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบข้อมูลว่า บริษัท MEHL เคยโอนเงินมากถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 480,000 ล้านบาท ให้กับหน่วยทหารหลายหน่วย รวมทั้งหน่วยทหารที่ดูแลรัฐยะไข่ พื้นที่ที่มีรายงานว่า กองทัพเมียนมาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญา
ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัท MEHL กับกองทัพเมียนมาในทิศทางที่อาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทนี้ เช่น บริษัทคิริน (Kirin) ผู้ผลิตเครื่องดื่มชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น กำลังทบทวนที่จะร่วมมือกับบริษัท MEHLครอบครัวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ประกอบธุรกิจที่หลากหลายเช่นกัน และถูกวิจารณ์มาโดยตลอดว่า ใช้อำนาจบารมีของพ่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับลูกๆ หรือไม่
โดยลูกชายของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย คือ อ่อง แพ โซน (Aung Pyae Sone) เป็นเจ้าของธุรกิจนำเข้าอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะเดียวกันยังถูกจับตาจากการทำธุรกิจร้านอาหารใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง ในนครย่างกุ้ง จนถูกวิจารณ์อย่างมากว่า ลูกชายของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้สิทธิ์เช่าอาคารในทำเลที่ดีที่สุดในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ลูกชายผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมายังเป็นเจ้าของรีสอร์ทขนาดใหญ่ที่ถูกสังคมวิจารณ์ว่า ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากพรรคพวกใกล้ชิดกับกองทัพ รวมทั้งยังได้สัมปทานจากกระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวในการสร้างโรงแรมที่เมืองมรัค-อู อีกด้วย
ขณะที่ภรรยาของอ่อง แพ โซน ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกสะใภ้ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้างและการพัฒนาที่ดินเช่นกัน
ส่วนบุตรสาวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย คือ ขิ่น ทีรี เต็ด มอญ (Khin Thiri Thet Mon) มีรายงานว่าเธอเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ ที่เซ็นสัญญาจัดการด้านการตลาดให้กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ‘Mytel' ซึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจในกองทัพเมียนมา
ลูกสาวของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายคนนี้ยังประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ในเมียนมาหลายเรื่อง จนสื่อท้องถิ่นของเมียนมารายงานว่า เธอคิดนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างภาพยนตร์ ทั้งๆ ที่พ่อของเธอมีนโยบายเข้มงวดเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในประเทศ