‘นอร์เวย์’ ผวา! ผู้สูงวัยฉีดวัคซีนโควิด-19 ดับพุ่ง
เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา สำนักงานยาของประเทศนอร์เวย์ แถลงว่ามีผู้เสียชีวิต13 รายแล้ว หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19โดสแรกของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทคโดยในจำนวนนี้เป็นผู้สูงวัยที่พักอยู่ในบ้านพักคนชราซึ่งมีอายุ 80 ปีขึ้นไป และพบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีน โดย นพ.ซีเกิร์ดฮอร์เตโม หัวหน้าแพทย์ของสำนักงานยาของนอร์เวย์ เปิดเผยว่า ผลข้างเคียงทั่วไปสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนมีอย่างเช่น มีอาการไข้และคลื่นไส้ จนอาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ
อย่างไรก็ดี สำนักงานยานอร์เวย์ ระบุว่ายังไม่สามารถชี้ชัดถึงผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนดังกล่าวที่ทำให้เกิดผลร้ายแรงและเสียชีวิตได้ในขณะนี้
ขณะที่สำนักงานยานอร์เวย์ และสถาบันสาธารณสุขแห่งชาตินอร์เวย์ เตรียมประเมินรายงานทั้งหมดเกี่ยวกับข้อสงสัยที่เกิดขึ้นแล้ว
มีรายงานข่าวว่า การฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ฯ จะต้องฉีด 2 โดส ห่างกัน 21 วัน และวัคซีนดังกล่าวจะต้องเก็บไว้ในที่ซึ่งมีอุณหภูมิเย็นจัด ซึ่งทางนอร์เวย์ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วราว 42,000 คน โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งรวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ
ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าบริษัทเทียนจินต้าเฉียวเต้า ในเทศบาลนครเทียนจิน ริมชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ออกแถลงการณ์ว่า ไอศกรีมของบริษัทมีร่องรอยของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามผลการยืนยันโดยหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ทั้งนี้ ทางบริษัทได้ยุติการเตรียมจำหน่ายสินค้าอีกประมาณ 29,000 กล่องในโกดัง ส่วนอีกราว 390 กล่องที่จำหน่ายออกไปแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังเร่งแกะรอยและได้แจ้งให้มณฑลข้างเคียงทราบแล้ว เพื่อร่วมกันเฝ้าระวัง
ส่วนที่ประเทศอินเดีย สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการอินเดียได้เริ่มแคมเปญแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีแผนฉีดวัคซีนให้ประชาชน 300 ล้านคน จากทั้งหมดราว 1,300 ล้านคนทั้งประเทศ ภายในกลางปีนี้ ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว 30 ล้านคนจะเป็นบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ นายโมดี จะกล่าวปราศรัยกับบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ผ่านทางระบบการประชุมทางไกลหรือวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แต่เขาจะยังไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนด้วยตนเอง เนื่องจากอินเดียให้ความสำคัญลำดับแรกในการฉีดวัคซีนให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ในวันเดียวกันนี้ เป็นวันแรกของการเริ่มฉีดวัคซีน โดยมีอาสาสมัครมารับวัคซีนที่ศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศ 3,006 แห่งๆ ละ 100 คน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการฉีดวัคซีนโควิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างไรก็ดี อินเดีย ซึ่งมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เคยมีการให้ข้อมูลออกมาก่อนหน้านี้ว่าอาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั้ง 1,350 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่กระนั้นก็ตาม การฉีดวัคซีนให้ประชากรเพียงแค่ครึ่งเดียวก็ถือเป็นโครงการฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แม้หลายประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ประกาศจะฉีดวัคซีนให้ประชากรทุกคนในประเทศ โดยวัคซีนที่ใช้ในอินเดียเป็นของแอสตราเซเนกามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับของภารัต ไบโอเทค สัญชาติอินเดีย ที่ยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส วัคซีนทั้งสองขนานผลิตในอินเดีย
วันเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าบรรยากาศศูนย์กักโรคที่ถูกดัดแปลงมาจากสวนสาธารณะนิทรรศการเกษตรมาเลเซีย ในเมืองเซอร์ดัง รัฐเซอลาโงร์ ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย รายงานว่าช่วงวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มาเลเซีย พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ 4,029 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบวันเกินกว่า 4,000 คนเป็นครั้งแรก ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันของประเทศสะสมอยู่ที่ 155,095 คน เสียชีวิตรวม 594 คน
ที่ ประเทศตุรกี ประธานาธิบดีเรเซปเทย์ยิปเออร์โดกัน แห่งตุรกี วัย 66 ปี ได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลกลางในกรุงอังการา เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เข็มแรก ซึ่งขณะนี้ตุรกีใช้วัคซีนโคโรนาแวคของบริษัท ซิโนแวคไบโอเทค จากนั้นผู้นำตุรกีให้สัมภาษณ์เชิญชวนประชาชนให้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งรัฐบาลจัดให้เป็นสวัสดิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี การเข้ารับวัคซีนของประชาชนจะจำแนกตามความเสี่ยงและช่วงวัย ซึ่งแน่นอนว่าบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตลอดจนบุคลากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแนวหน้าของภารกิจต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อน
ปัจจุบันตุรกีมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ในระบบประมาณ 1.1 ล้านคน และทางการตั้งเป้าให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ภายในระยะเวลา 1เดือนนับจากนี้
ทั้งนี้ ออสเตรเลียเข้มงวดผู้เดินทางมาจากต่างประเทศด้วยการให้กักตัวดูอาการที่โรงแรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกเป็นพนักงานโรงแรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 และเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา พบผู้เดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำเข้าเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศมีผลตรวจหาเชื้อเป็นบวก 3 คน
ด้านผู้จัดการแข่งขันเทนนิสออสเตรเลี่ยนโอเพ่นยืนยันว่า แกรนด์สแลมแรกของปีนี้จะจัดขึ้นที่เมลเบิร์นตามกำหนด โดยเริ่มแข่งขันตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ แม้ว่านักเทนนิสหลายคนไม่พอใจที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องพักไปซ้อม ขณะนี้มีนักเทนนิส 47 คน ถูกกักตัวดูอาการในโรงแรม ซึ่งประเทศออสเตรเลียพบผู้ป่วยรายใหม่ 18 คน ทำให้ยอดสะสมรวมกว่า 28,700 คน เสียชีวิตคงเดิมอยู่ที่ 909 คน