แพทย์เตรียมทดลอง ฮอร์โมนหญิง รักษาผู้ป่วยชายติดโควิด-19


แพทย์เตรียมทดลอง ฮอร์โมนหญิง รักษาผู้ป่วยชายติดโควิด-19


งานวิจัยและข้อมูลสถิติที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ชี้ว่า ผู้ชายมีแนวโน้มจะล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้มากกว่าผู้หญิงหลายเท่าตัว ซึ่งอาจเนื่องมาจากความแตกต่างทางพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ

ประเด็นนี้ทำให้แพทย์บางกลุ่มในสหรัฐฯ มีความสนใจที่จะทดลองใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเข้าช่วยรักษาคนไข้ชายซึ่งเป็น "เพศอ่อนแอกว่า" ในเรื่องของภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อให้สามารถต่อสู้กับภาวะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ดีขึ้น




หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ (NYT) ของสหรัฐฯ รายงานว่าคณะแพทย์ของโรงพยาบาลซีดาร์ส-ไซนายในนครลอสแอนเจลิส รวมทั้งทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสโตนีย์บรูกในรัฐนิวยอร์ก กำลังเตรียมการจะทดลองใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เป็นชายและหญิงชราที่ขาดฮอร์โมนเพศในไม่ช้านี้

ผู้ทำการทดลองทั้งสองคณะมีสมมติฐานว่า ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายของสตรีให้แข็งแกร่งเป็นพิเศษ จนสามารถต้านทานการติดเชื้อได้ดีกว่าเพศตรงข้าม แม้จะยังไม่ทราบถึงกลไกการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในส่วนนี้ก็ตาม


แพทย์เตรียมทดลอง ฮอร์โมนหญิง รักษาผู้ป่วยชายติดโควิด-19


การทดลองของมหาวิทยาลัยสโตนีย์บรูกจะใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนไข้โรคโควิด-19 จำนวน 110 คน ซึ่งแบ่งเป็นคนไข้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไปกับคนไข้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยคนไข้เหล่านี้จะต้องแสดงอาการของโรคที่รุนแรงออกมาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่นมีไข้สูง หายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

คนไข้ที่เข้ารับการทดลองกลุ่มหนึ่งจะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบแผ่นแปะผิวหนัง ในขณะที่อีกกลุ่มจะได้รับการรักษาแบบมาตรฐานทั่วไป โดยจะทำการทดลองเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ แล้วคอยติดตามสังเกตอาการรวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของคนไข้สองกลุ่มหลังจากนั้น

ส่วนการทดลองของโรงพยาบาลซีดาร์ส-ไซนาย จะฉีดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนให้คนไข้ชายที่มีอาการของโรคโควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจำนวน 44 คน โดยจะมีการฉีดฮอร์โมนวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน




เคยมีงานวิจัยในอดีตที่ชี้ว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณสูงกว่าปกติ สามารถจะช่วยขจัดเชื้อไวรัสในร่างกาย รวมทั้งซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายเมื่อภาวะติดเชื้อเริ่มบรรเทาลง ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนนั้นอาจช่วยต้านการอักเสบ และป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันร่างกายมีปฏิกิริยาต้านสิ่งแปลกปลอมที่รุนแรงเกินไป จนเกิดภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเองซึ่งทำให้อวัยวะหลายอย่างล้มเหลวและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. ซาบรา ไคลน์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ผู้หญิงต้านทานโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าผู้ชายนั้น อาจไม่ได้เป็นเพราะฮอร์โมนเพศเพียงอย่างเดียว เพราะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเพศลดต่ำก็ยังสามารถต้านทานไวรัสได้ดีกว่าผู้ชายทั่วไปอยู่

"แม้การรับฮอร์โมนเพศหญิงเข้าสู่ร่างกายเพิ่ม จะช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของทั้งชายและหญิงแข็งแกร่งขึ้นได้ทั้งคู่ แต่ถ้าอัตราการฟื้นตัวจากโรคของคุณยายวัย 93 ปี ยังคงสูงกว่าของผู้ชายทั่วไปอยู่มากละก็ มันคงจะไม่ได้เป็นเพราะฮอร์โมนเพศแน่ ๆ" ศ.ดร. ไคลน์กล่าว


แพทย์เตรียมทดลอง ฮอร์โมนหญิง รักษาผู้ป่วยชายติดโควิด-19

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์