ควีน อลิซาเบธ สร้างขวัญกำลังใจแก่ ปชช สู้วิกฤติโควิด19


ควีน อลิซาเบธ สร้างขวัญกำลังใจแก่ ปชช สู้วิกฤติโควิด19

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งสหราชอาณาจักร จะมีพระราชดำรัสต่อประชาชนในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยจะทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีวินัยในตนเอง และความแน่วแน่ในการฝ่าฟันกับปัญหาในห้วงเวลาแห่งความท้าทายนี้

สมเด็จพระราชินีนาถฯ พระชนมพรรษา 93 พรรษา จะพระราชทานพระราชดำรัส ซึ่งได้มีการบันทึกเทปไว้ล่วงหน้า และจะมีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์, วิทยุ และโซเชียลมีเดีย ในเวลา 20.00 น.ของวันนี้ (5 เม.ย.) ตามเวลาในอังกฤษ

ในการพระราชทานพระราชดำรัสครั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถฯ จะตรัสถึงความเศร้าโศกเสียใจ และความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ชาวอังกฤษต้องเผชิญใน "ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายนี้"



นอกจากนี้ พระองค์จะทรงแสดงความขอบพระทัยบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ผู้มีบทบาทสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งจะทรงเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญที่ประชาชนแต่ละคนสามารถทำได้ในวิกฤตการณ์นี้

สมเด็จพระราชินีนาถฯ จะตรัสว่า "ข้าพเจ้าพูดกับพวกท่านในยามที่ข้าพเจ้าทราบดีว่ามีความท้าทายขึ้นทุกขณะ"

"ในห้วงเวลาแห่งความวุ่นวายในบ้านเมืองของเรา ความวุ่นวายได้นำมาซึ่งความเศร้าโศกสำหรับบางคน, ความยากลำบากทางเศรษฐกิจสำหรับหลายคน และความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงต่อชีวิตประจำวันของเราทุกคน"

"ข้าพเจ้าหวังว่าต่อไปภายหน้าทุกคนจะภาคภูมิใจกับสิ่งที่พวกท่านได้ทำเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้...และคนรุ่นหลังจะพูดได้ว่า คนอังกฤษรุ่นนี้มีความแข็งแกร่งไม่แพ้รุ่นใด"

"นั่นเป็นเพราะความมีวินัยในตนเอง ความแน่วแน่ในการฝ่าฟันปัญหาด้วยอารมณ์ที่ดี และด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกัน ที่ยังคงเป็นคุณลักษณะเฉพาะของประเทศนี้"

นอกจากนี้ สมเด็จพระราชินีนาถฯ จะตรัสขอบพระทัยประชาชนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลที่ให้เก็บตัวอยู่ในบ้าน แม้ว่าช่วงสุดสัปดาห์นี้จะมีสภาพอากาศดีทั่วประเทศก็ตาม



สร้างขวัญกำลังใจ
การบันทึกเทปพระราชดำรัสครั้งนี้มีขึ้นโดยใช้ช่างภาพเพียงหนึ่งคนที่สวมชุดป้องกันเชื้อ ขณะที่เจ้าหน้าที่เทคนิคคนอื่น ๆ ทำงานอยู่ในห้องอื่น

นิโคลัส วิตเชลล์ ผู้สื่อข่าวสายราชสำนักของบีบีซี ระบุว่า พระราชดำรัสครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความอุ่นใจและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชน

เขาชี้ว่า การตัดสินใจเรื่องนี้มีขึ้นหลังจากมี "การปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลอังกฤษ"

โดยมีขึ้นในขณะที่สหราชอาณาจักรมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เพิ่มขึ้น 708 ราย ถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดภายในวันเดียวของประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 4,313 ราย



ไดมอนด์ ชี้ว่า แม้บทบาทของสมเด็จพระราชินีนาถฯ และสมาชิกราชวงศ์จะมีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น ในด้านที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ, พิธีการต่าง ๆ, การเสด็จเยือนเมืองและประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมการกุศล แต่หัวใจสำคัญของสถาบันนี้คือการเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาติ

ดังนั้นเมื่อเกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในชาติ สมเด็จพระราชินีนาถฯ จะไม่ทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือมีพระราชดำรัสใด ๆ โดยจะทรงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดการ

ยกตัวอย่างกรณีดังกล่าวเช่น ในช่วงสงครามอิรักเมื่อปี 2003, การรุกรานอียิปต์ในวิกฤตการณ์คลองสุเอซ เมื่อปี 1956 ซึ่งกองทัพที่ปฏิบัติการภายใต้พระนามของพระองค์ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในความขัดแย้งเหล่านี้ และก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกแยกของคนอังกฤษในชาติ

ไดมอนด์ ชี้ว่า การที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ จะทรงเรียกร้องให้เกิดความสามัคคีในเหตุขัดแย้งเหล่านี้ จะถูกตีความว่าพระองค์ทรงให้การสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยง่าย

ทว่าพระราชดำรัสในครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์ที่ต่างออกไปมาก โดยถึงแม้ว่าพระองค์จะไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการตกงานจากวิกฤตโควิด-19 เหมือนประชาชนทั่วไป แต่พระราชโอรสของพระองค์คือหนึ่งในเหยื่อของโรคระบาดครั้งนี้

 



พระราชดำรัสในสมเด็จพระราชินีนาถฯ ครั้งนี้ มีขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หลังจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงหายจากอาการประชวร และพ้นกำหนดการกักตัวเอง หลังจากทรงได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าชายแห่งเวลส์ พระชนมายุ 71 พรรษา ทรงเป็นองค์ประธานเปิดโรงพยาบาลไนติงเกล ผ่านระบบวิดีโอลิงค์

โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นโรงพยาบาลสนามที่ดัดแปลงมาจากศูนย์แสดงสินค้าและศูนย์ประชุมในลอนดอน ซึ่งรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถึง 4,000 เตียง



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์