ไข่มุกเก่าสุดของโลก อาบูดาบีภูมิใจจัดแสดงอลังการณ์
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว หรือดีซีที ระบุว่า ไข่มุกเม็ดดังกล่าวถูกค้นพบเมื่อปี 2560 บริเวณแหล่งโบราณคดี มาราวาห์ ไอส์แลนด์ นอกชายฝั่งอาบูดาบี โดยผลการทดสอบอายุจากกห้องปฏิบัติการพบว่า กำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 5,800 ถึง 5,600 ปีก่อนคริสตกาล
นายอับดุลลา คาลฟาน อัล-คาบี จากหน่วยสำรวจแหล่งโบราณคดีของดีซีที กล่าวว่า การค้นพบไข่มุกเม็ดนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงการแลกเปลี่ยนไข่มุกในยุคหินใหม่ (Neolithic Age) ซึ่งมนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน และทำเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า และใช้เครื่องปั้นดินเผา
ดีซีที ระบุว่า หลักฐานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลทางด้านโบราณคดีที่ย้อนไปเมื่อราวคริสศตวรรษที่ 16 พบว่า อาบูดาบี เป็นแหล่งค้าขายไข่มุกขนาดใหญ่ของโลก โดยนักโบราณคดียังพบเครื่องประดับที่ทำจากกระดูกสัตว์น้ำด้วย
นายโมฮัมเหม็ด คาลิฟา อัล-มูบารัก รัฐมนตรีดีซีที ระบุว่า ไข่มุกอาบูดาบี เป็นการค้นพบที่น่าทึ่ง และเป็นสักขีพยานของวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับทะเลของชาวอาบูดาบี ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาอันยาวนานของผู้คนในแถบนี้ไปจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ ไข่มุกเคยเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของอาบูดาบี และเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของชาวประมง แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวเริ่มเสื่อมความนิยมลงในช่วงศตวรรษที่ 20 หลังชาวประมงญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการคิดค้นการทำฟาร์มหอยมุก และกรรมวิธีที่ทำให้ได้มุกเม็ดงามกลมเกลี้ยงสมบูรณ์แบบ