ค้นพบ “หมูรา” ญาติดึกดำบรรพ์ของ “หมีน้ำ” ในก้อนอำพัน 30 ล้านปี
ดร. จอร์จ พอยนาร์ จูเนียร์ นักโบราณชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (OSU) ของสหรัฐฯ เป็นผู้ค้นพบ "หมูรา" และได้ตั้งชื่อให้มันตามลักษณะภายนอกที่คล้ายกับหมูอ้วน โดยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดจิ๋วชนิดนี้กินเชื้อราเป็นอาหารหลัก
ดร. พอยนาร์ ยังเสนอให้หมูรามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sialomorpha dominicana ซึ่งเป็นภาษากรีกที่มีความหมายว่า "รูปร่างเหมือนหมูอ้วน" อีกด้วย
หมูรามีขนาดเล็กราว 100 ไมโครเมตร มีขา 4 คู่ มีส่วนหัวยืดหยุ่นได้ และมีเปลือกหุ้มตัวซึ่งจะลอกออกแบบเดียวกับการลอกคราบเมื่อพวกมันเติบโตขึ้น
ผลการวิเคราะห์ซากฟอสซิลของหมูราในก้อนอำพันหลายร้อยชิ้น ซึ่งขุดค้นได้จากสาธารณรัฐโดมินิกันในแถบทะเลแคริบเบียน ชี้ว่าพวกมันเคยดำรงชีวิตอยู่ในยุคเทอร์เชียรีตอนกลาง (mid-Tertiary) เมื่อราว 30 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งร่วมสมัยเดียวกับช่วงเวลาที่สิ่งมีชีวิตอย่างแมงป่องเทียม, หนอนตัวแบน, โปรโตซัว และเชื้อรา กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นบนโลก
แม้หมูราจะมีรูปร่างภายนอกคล้ายกับหมีน้ำทาร์ดิเกรด และบางครั้งยังกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ เหมือนหมีน้ำด้วยเช่นกัน แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจัดให้หมูราเป็นสัตว์ประเภทเดียวกับหมีน้ำ หรือเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังได้ เนื่องจากมันมีลักษณะที่ก้ำกึ่งผสมผสานระหว่างหมีน้ำกับตัวไร (mite) และอาจเป็นสัตว์ในหมวดหมู่อนุกรมวิธานใหม่ หรือจัดเป็นสัตว์ในไฟลัมใหม่ก็เป็นได้
ดร. พอยนาร์ ระบุในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร "ชีววิทยาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง" (Invertebrate Biology) ว่า "ก้อนอำพันที่เก็บรักษาซากของหมูราไว้เป็นอย่างดี ทำให้เราทราบถึงสิ่งที่มันกินเป็นอาหาร ขั้นตอนการเจริญเติบโต และพฤติกรรมการขยายพันธุ์ของมันได้ แต่เรายังไม่ทราบว่า กำเนิดของสัตว์ชนิดนี้มาจากสายวิวัฒนาการใดกันแน่ และยังไม่แน่ใจว่ามีลูกหลานของหมูราสืบเผ่าพันธุ์อยู่มาจนถึงปัจจุบันหรือไม่"