“2,500 คนในร่างเดียว” หญิงถูกพ่อทารุณกรรมมีหลายบุคลิกเพื่อความอยู่รอด
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจนีได้มีโอกาสเข้าให้ปากคำต่อศาลเพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับพ่อ แม้ในวันนั้นจะมีเธอขึ้นเบิกความในฐานะผู้เสียหายเพียงคนเดียว แต่ในระหว่างการให้ปากคำที่ยาวนานกว่าสองชั่วโมง กลับมีพยานอีกถึง 6 คนเข้าร่วมให้การด้วย โดยที่ศาลไม่ได้นัดหมายหรือล่วงรู้ถึงพยานบุคคลเหล่านี้มาก่อน พวกเขาพูดผ่านร่างและเสียงของเจนีซึ่งเปลี่ยนบุคลิกจนกลายเป็นคนละคน
นักจิตวิทยาบอกว่า เหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นถือเป็นผลพวงจากการที่เจนีถูกทำร้ายทรมานติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้สภาพจิตใจของเธอต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในภาวะที่คนทั่วไปยากจะทานทนได้เพื่อที่จะแยกตัวตนของเธอออกมา และไม่ต้องรับรู้ความเจ็บปวดที่ถูกกระทำอยู่ทุกวี่วัน เจนีจึงสร้างบุคคลในจินตนาการขึ้นมาแทนที่ตัวเองเป็นจำนวนมากถึง 2,500 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีบุคลิกภาพแตกต่างกันออกไปคนละแบบ
กรณีของเจนีถือว่าเป็นครั้งแรกในออสเตรเลียหรืออาจจะเป็นครั้งแรกของโลก ที่เหยื่อผู้ถูกกระทำซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลายบุคลิก (MPD/DID) ใช้ตัวตนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ตัวตนดั้งเดิมให้การต่อศาล จนสามารถเอาผิดอาชญากรที่ทำร้ายตนได้ โดยศาลนครซิดนีย์มีคำพิพากษาจำคุกนายริชาร์ด เฮย์นส์ วัย 74 ปี พ่อของเจนีเป็นเวลา 45 ปีด้วยกัน
ถูกล้างสมองให้หวาดกลัวตลอดเวลา
ครอบครัวของเจนีย้ายถิ่นฐานจากกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร ไปอยู่ที่ออสเตรเลียในปี 1974 ขณะที่เธอมีอายุได้ 4 ขวบ พ่อของเจนีเริ่มลงมือทำร้ายเธอมาก่อนหน้านั้นสักพักแล้ว และหลังจากย้ายบ้านมาพฤติกรรมของเขายิ่งรุนแรงขึ้นจนเข้าขั้นซาดิสม์ (sadism) หรือมีความสุขที่ได้ทำร้ายผู้อื่นและเห็นผู้อื่นเจ็บปวด
"พ่อได้ยินฉันขอร้องอ้อนวอนให้เขาหยุด ได้ยินเสียงฉันร้องไห้ ได้เห็นความเจ็บปวดและหวาดกลัว ได้เห็นทั้งเลือดและบาดแผลที่เขาทำกับฉัน แต่ในวันต่อมาพ่อก็จะทำแบบเดิมอีก"
พ่อของเจนีล้างสมองลูกสาวให้เชื่อว่า เขาสามารถอ่านใจของเธอได้ โดยขู่ว่าจะฆ่าแม่และพี่น้องของเธอเสีย หากเธอบังอาจแม้แต่จะคิดถึงเรื่องที่ตัวเองถูกทำร้าย และไม่ควรจะคิดบอกเรื่องนี้กับใครทั้งสิ้น
"แม้แต่โลกส่วนตัวภายในจิตใจของฉันพ่อก็ยังบุกรุกเข้ามา ฉันไม่เคยรู้สึกปลอดภัยได้เลย แม้กระทั่งในความคิดของตัวเอง" เจนีกล่าว "ฉันคิดวิเคราะห์ไม่ได้อีกแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ฉันหาบทสรุปไม่ได้"
ด้วยความกลัวว่าพ่อจะอ่านความคิดของเธอออก เวลาที่เจนีนึกถึงเรื่องครอบครัวหรือเรื่องที่ถูกทำร้าย เธอจะพยายามกลบเกลื่อนและซ่อนมันไว้ในรูปของการร้องเพลงในใจ หรือนึกถึงเนื้อเพลงยอดนิยม เช่นเพลงของวง Culture Club "เธออยากทำร้ายฉันจริงหรือ" (Do you really want to hurt me)
พ่อยังไม่ยอมให้เจนีไปโรงพยาบาลหลังถูกข่มขืนหรือทุบตีอีกด้วย ทำให้บาดแผลของเธอกลายเป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพตลอดชีวิต แพทย์บอกว่าเธอมีความเสียหายถาวรทั่วร่างกาย ทั้งที่กราม ลำไส้ รูทวาร กระดูกก้นกบ รวมทั้งการมองเห็นด้วย โดยเมื่อปี 2011 เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดให้ลำไส้ใหญ่มีช่องเปิดออกมาทางหน้าท้อง เพื่อเป็นรูทวารใหม่สำหรับการขับถ่าย
การทำร้ายทรมานดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนเจนีมีอายุได้ 11 ปี ครอบครัวของเธอย้ายถิ่นฐานกลับมาที่สหราชอาณาจักรอีกครั้ง และพ่อกับแม่ของเธอหย่าร้างกันหลังจากนั้นไม่นานในปี 1984 เจนีเชื่อว่าไม่มีใครรู้ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แม้แต่แม่ของเธอเอง
กลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด
ดร. แพม สตาฟโรปูลอส ผู้เชี่ยวชาญกรณีเด็กถูกล่วงละเมิดบอกว่า "โรคหลายบุคลิกนั้นพบได้มากกับกรณีเด็กถูกทำร้ายอย่างรุนแรง ในสภาพแวดล้อมที่ควรจะปลอดภัยและวางใจได้เช่นบ้านหรือโรงเรียน"
"ความผิดปกตินี้เป็นเหมือนกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่เด็กแยกตัวเองออกจากความรุนแรง ยิ่งเด็กอายุน้อยลงและถูกกระทำทารุณมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดโรคหลายบุคลิกยิ่งมีสูงขึ้นเท่านั้น"
"เวลาที่มันเกิดขึ้น ตัวตนอื่น ๆ ของฉันจะเดินออกมาจากด้านหลัง และเบี่ยงเบนความสนใจไปจากตัวฉัน พวกเขาคือเกราะป้องกันไม่ให้พ่อทำร้ายฉันได้"
เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี แม้แต่ "ซิมโฟนี" เองก็เริ่มจะมีตัวตนอื่น ๆ ของเธอเพิ่มขึ้นมาด้วยกว่าหลายร้อยคน โดยแต่ละคนจะมีบุคลิกต่างกันออกไปเพื่อรองรับสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น "มัสเซิล" วัยรุ่นชายร่างสูงสวมเสื้อแขนสั้นโชว์กล้าม จะปรากฏตัวขึ้นเพื่อปกป้องเจนีหรือซิมโฟนีอย่างใจเย็นในเวลาที่ถูกทำร้ายรุนแรงเป็นพิเศษ หรือ "ลินดา" หญิงสาวร่างระหงสวมกระโปรงบานแบบย้อนยุคที่ทั้งเฉลียวฉลาดและสง่างาม ก็มักจะปรากฏตัวขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับโรงเรียนและเพื่อนฝูง
ในการให้ปากคำต่อศาลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจนีและตัวตนอื่น ๆ ของเธออีก 6 คนรวมทั้งเด็กหญิงซิมโฟนี ได้ร่วมกันบอกเล่าแง่มุมต่าง ๆ ของการถูกล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้พ่อของเจนีถูกตั้งข้อหาเอาผิดรวมทั้งสิ้นถึง 367 ข้อหา ซึ่งรวมถึงข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี, ล่วงเกินทางเพศ, และบังคับร่วมเพศทางทวารหนัก
นักจิตวิทยาบอกว่าสิ่งที่ตัวตนอื่น ๆ ของเจนีให้การมานั้น แท้ที่จริงก็คือบันทึกความทรงจำของเธอที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี โดยไม่ถูกลบเลือนไปจากสมองเหมือนผู้ป่วยอื่นที่ได้รับเหตุกระทบกระเทือนรุนแรงต่อจิตใจ คำให้การที่แม่นยำเหล่านี้ทำให้พ่อของเจนีต้องยอมรับสารภาพต่อข้อหาที่ร้ายแรงที่สุด 25 ข้อหา ในวันที่สองของการพิจารณาคดีเท่านั้น
ไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการยุติธรรม
ดร. เคที เคเซลแมน ประธานมูลนิธิ Blue Knot Foundation ของออสเตรเลีย ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการถูกทารุณกรรมในวัยเด็กบอกว่า "กรณีของเจนีถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ศาลยอมรับฟังคำให้การจากตัวตนอื่น ๆ ของโจทก์ที่ป่วยด้วยโรคหลายบุคลิก และนำมาประกอบการพิจารณาคดีจนสามารถลงโทษเอาผิดกับอาชญากรได้"
เป็นเรื่องยากที่เจนีจะได้รับความช่วยเหลือจากใคร ๆ ในเรื่องนี้ แม้แต่จากนักบำบัดและผู้ให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เพราะตัวตนหลายบุคลิกของเธอนั้น ทำให้เรื่องเล่าจากอดีตอันโหดร้ายไม่น่าเชื่อถือ แม้แต่กับวงการแพทย์สมัยใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคหลายบุคลิกมากขึ้นแล้วก็ตาม
โรคหลายบุคลิกยังทำให้เจนีใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปได้ลำบาก แม้จะเรียนจบถึงระดับปริญญาโทและเอกด้านกฎหมายและจิตวิทยาก็ตาม เธอยังคงหางานประจำทำไม่ได้ และปัจจุบันอาศัยอยู่กับแม่โดยทั้งสองอาศัยเงินสวัสดิการจากรัฐเลี้ยงชีพ
"แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ฉันปรารถนาอย่างยิ่งให้เรื่องราวของตัวเองถูกเล่าขานต่อกันไป ฉันต้องการให้ความพยายามดิ้นรนต่อสู้ถึงสิบปีนี้เป็นเหมือนไฟลามทุ่ง เผาทำลายอุปสรรคกีดขวางสำหรับคนรุ่นหลังที่ต้องเดินในเส้นทางเดียวกัน"
"หากคุณถูกทำร้ายล่วงละเมิดจนเป็นโรคหลายบุคลิก คุณสามารถจะได้รับความเป็นธรรมแล้วในทุกวันนี้ จงไปหาตำรวจและเล่าเรื่องทั้งหมด พวกเขาจะเชื่อคุณ และความเจ็บป่วยทางใจของคุณจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการยุติธรรมอีกต่อไป"