ดอลลาร์ร่วง!! หลังทรัมป์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเงินของเฟด
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวรอบโลก ดอลลาร์ร่วง!! หลังทรัมป์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเงินของเฟด
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/8) ที่ระดับ 32.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (20/8) ที่ระดับ 33.05/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ว่า เขา “ไม่ยินดี” กับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยเฟดควรดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประเทศในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า
นอกจากนี้ทรัมป์ยังแสดงความไม่พอใจที่ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ใช้โอกาสที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยนี้ เพื่อทำให้เงินสกุลของประเทศตนเองอ่อนค่า ขณะเดียวกันนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศได้เพิ่มความเสี่ยงในช่วงขาลงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากตลาดการเงินทั่วโลกมีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้นักลงทุนจับตาดูรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ประจำเดือนกรกฎาคมในวันพุธนี้ (22/8) รวมถึงการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง (23-25/8) โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด และสิ่งบ่งชี้สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน”
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายวิรไท สันติประภพ ส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒฯาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในไตรมาส 2/61 ขยายตัว 4.6% จากตลาดคาดเติบโต 4.4% ขณะที่ไตรมาส 1/61 ขยายตัว 4.9% ส่งผลให้ครึ่งปีแรก GDP ขยายตัวที่ 4.8% โดยนายวิรไท ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษลดน้อยลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมหลักเริ่มมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ไทยก็ไม่สามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสวนทางได้ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.68-32.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/8) ที่ระดับ 1.1528//30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (20/8) ที่ระดับ 1.1408/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของเฟด รวมถึงได้กล่าวหาว่าจีนและยุโรปบิดเบืือนค่าเงิน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1480-1.1543 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1520/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/8) ที่ระดับ 110.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อจันทร์ (20/8) ที่ 110.64/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.05-110.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.26/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC Minutes) ประจำวันที่ 31/7-1.8 (22/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/8), ยอดขายบ้านใหม่เดือนกรกฎาคม (23/8), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกรกฎาคม (24/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต (23/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสีี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.2/-4.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
cr: prachachat.net
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น