สิ่งของไร้เจ้าของ สุดท้ายแล้วไปไหน ? ไปดูวิธีจัดการสิ่งของที่ไม่มีคนรับคืนและของหายที่ไม่มีคนตามหาของประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นกุมขมับ!!! กับปัญหาสิ่งของไร้เจ้าของกว่าล้านชิ้นในกรุงโตเกียว!
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวรอบโลก ญี่ปุ่นกุมขมับ!!! กับปัญหาสิ่งของไร้เจ้าของกว่าล้านชิ้นในกรุงโตเกียว!
เชื่อหรือไม่ว่าหนึ่งในสิ่งของหลายล้านชิ้นที่ศูนย์รวบรวมของหายในกรุงโตเกียวได้รับนั้นคือโกศ ถึงแม้ว่าอาจจะดูไม่น่าเชื่อ แต่มีโกศหลายใบเลยทีเดียวที่ได้ถูกนำมาส่งที่นี่ ภายในปี ค.ศ. 2016 ศูนย์ของหายในเขตบุงเกียวนั้นได้พยายามตามหาเจ้าของโกศกว่า 10 ใบ แต่ในทุกๆ ครั้งเจ้าของหรือญาติของเจ้าของโกศเหล่านี้ได้ปฏิเสธที่จะมารับโกศคืน
สิ่งของที่ได้มีการนำมาไว้ที่ศูนย์รวบรวมของหายอีกประเภทหนึ่งคือร่ม ซึ่งมีจำนวนมากจนพื้นที่ขนาด 660 ตารางเมตรในห้องใต้ถุนของศูนย์แห่งนี้นั้นได้มีไว้เพื่อเก็บสิ่งของประเภทนี้โดยเฉพาะ นายโชจิ โอคุโบะ หัวหน้าของศูนย์กล่าวว่าในช่วงฤดูฝน มีร่มกว่า 3,000 คันที่ถูกนำมาทิ้งเอาไว้ภายในวันเดียว และภายในปี 2016 มีร่มรวมกว่า 381,135 คันเลยทีเดียวที่ได้ถูกนำมาไว้ในศูนย์สำหรับของหายแห่งนี้ ร่มแต่ละชิ้นนั้นได้ถูกติดป้ายซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับวันที่และผู้บันทึกสิ่งของชิ้นนี้
"มันยากมากสำหรับเราในการที่จะบันทึกสิ่งของต่างๆ อย่างเป็นระบบ เผื่อว่าวันหนึ่งมีเจ้าของมาตามหาเราจะได้ส่งคืนได้อย่างถูกต้อง" หัวหน้าศูนย์กล่าว ศูนย์รวบรวมของหายเช่นที่นี่นั่นเอง ที่สิ่งของไร้เจ้าของหลากหลายชนิดได้ถูกนำมาส่งจากสถานีตำรวจ ห้างสรรพสินค้า และสถานีรถไฟต่างๆ หลังจาก ไม่มีคนมารับเกิน 1 หรือ 2 สัปดาห์
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา มีสิ่งของไร้เจ้าของนับได้ถึง 900,000 ชิ้นแล้ว โดยมีตั้งแต่กระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงโกศไร้เจ้าของซึ่งเก็บได้จากหลายๆ แห่งในกรุงโตเกียว
จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น มีสิ่งของทั้งหมดกว่า 26.7 ล้านชิ้น ยกเว้นเงินสดได้ถูกบันทึกเอาไว้ภายในปี 2015 ซึ่งภายในกรุงโตเกียวเพียงที่เดียวเท่านั้นก็มีสิ่งของถูกบันทึกไว้ถึง 3.83 ล้านชิ้น โดยหากเปรียเทียบกับในปี 1997 นั้น มีสิ่งของเพียง 1.37 ล้านชิ้นซึ่งถูกบันทึกไว้เท่านั้น
ในปี 2016 ที่ผ่านมา ใบขับขี่และบัตรเครดิตเป็นสิ่งของที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจัดการมากที่สุดคิดเป็น 15.6% ของสิ่งของทั้งหมด บัตรโดยสารรถไฟ เสื้อผ้าและรองเท้าเป็นสิ่งของอีกแบบหนึ่งที่มีจำนวนมาก ในส่วนของเงินสดนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เก็บเงินได้เป็นจำนวนรวมถึง 3.67 ล้านเยน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากจำนวน 3.5 ล้านเยนในปี 1990
ด้วยจำนวนสิ่งของที่เพิ่มมากขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้กำลังดำเนินการซ่อมแซมศูนย์รวบรวมของหายทั้ง 6 ชั้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรับสิ่งของต่างๆ ระบบการรับสิ่งของไร้เจ้าของเริ่มด้วยการตามหาเจ้าของด้วยข้อมูลทั้งหมดที่ทางศูนย์สามารถค้นหาได้ ทั้งการโทรศัพท์ตามหาที่มีมากถึง 250 ครั้งต่อวัน รวมไปถึงการส่งไปรษณีย์ไปแจ้ง หากตำรวจได้นำพาสปอร์ตมาส่ง ทางศูนย์รวบรวมของหายจะทำการส่งพาสปอร์ตไปที่สถานทูตของประเทศนั้นๆ เพื่อตามหาเจ้าของต่อไป
ของอีกชนิดหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกบันทึกว่าเป็นของหายนั้นคือสัตว์ต่างๆ โดยในปี 2016 นั้นมีสัตว์กว่า 1,000 ตัว ถูกบันทึกว่าเป็นของหาย ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นกจำพวกต่างๆ กบ หรือแม้กระทั่งปลาทองก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วตำรวจนั้นจะทำการส่งต่อสัตว์แปลกๆ ไปให้ผู้ที่ต้องการสะสมหรือสถานสงเคราะห์สัตว์ สำหรับสุนัขแล้ว ตำรวจเก็บพวกมันไว้สักพักในขณะที่กำลังตามหาเจ้าของ บางครั้งพวกเขาพาสุนัขออกไปเดินเล่นด้วยซ้ำ เพราะหวังว่าพวกมันจะพาเขาไปหาบ้านของพวกมันได้
ในปี 2016 คาดการณ์ว่ามีผู้มารับของหายที่ศูนย์แห่งนี้ประมาณ 286 คนต่อวัน โดยสิ่งของมีค่าเช่นเงินสดและบัตรเครดิตเป็นสิ่งของที่มีการมารับคืนมากที่สุด แต่สิ่งของเช่นร่มหรือเครื่องนุ่งห่มนั้นกลับไม่มีคนต้องการมารับคืน โดยในปี 2016 ร่มเพียง 0.8% เสื้อผ้าและรองเท้าเพียง 3.8% เท่านั้นที่มีคนมารับคืน หากเทียบกับสิ่งของมีค่าประเภทเงินสดนั้นมีคนมารับคืนถึง 74%
โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับของหายระบุว่า หากผู้ใดเก็บสิ่งของได้ผู้นั้นต้องนำคืนเจ้าของหรือนำส่งตำรวจทันที และผู้ที่นำส่งของหายนั้นจะได้รับค่าตอบแทน 5-20% ของมูลค่าของสิ่งของ หากเวลาผ่านไป 3 เดือนแล้วไม่มีเจ้าของมารับของชิ้นนั้นๆคืน ของชิ้นนั้นๆ ยกเว้นสิ่งของที่มีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลเช่นบัตรเครดิต จะกลายเป็นของๆ ผู้ที่เก็บได้ โดยผู้ที่ทำของหายนั้นมีเวลา 2 เดือนที่จะมารับของคืน โดยสิ่งของที่ไม่มีใครต้องการนั้นจะมีการส่งต่อไปให้คนขายของเก่า และส่วนหนึ่งของรายได้จากการขายของต่างๆนั้นจะถูกส่งกลับคืนมาให้สำนักงานบริหารเมืองต่อไป
นายซาเนโยชิ โยกิ เจ้าของบริษัท PX Co., ในจังหวัดไซตามะเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่รับสิ่งของไร้เจ้าของเหล่านี้มาขายในตลาดมือสอง บริษัทรถไฟจัดการประมูลสิ่งของเหล่านี้หลายครั้งต่อปี ส่วนใหญ่พวกเขาประมูลสิ่งของต่างๆ ต่อกล่อง ซึ่งผู้ประมูลไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรอยู่ในกล่องนั้นๆ สำหรับนายโยกิ แล้ว เขาสามารถที่จะคาดเดาว่ามีอะไรอยู่ในกล่องจากเดือนล่าสุดที่เขาได้มาประมูล เช่นหากมีการประมูลในเดือนพฤษภาคม เขาก็สามารถที่จะเดาได้เลยว่าสิ่งของในกล่องนั้นจะมาจากช่วงฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่เช่นถุงมือและผ้าพันคอ บริษัทของเขาใช้งบจำนวน 60 ล้านเยนต่อการประมูลหนึ่งรอบ โดยบริษัทของเขานั้นจะนำสิ่งของเหล่านี้ไปขายตามห้างสรรพสินค้า 4 ครั้งต่อปี โดยมีสิ่งของจำนวนกว่า 40,000 ชิ้นที่มาขายในตลาดต่อครั้ง สิ่งของเหล่านี้มีตั้งแต่กระเป๋าเดินทาง กีตาร์ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งนาฬิกาและกระเป๋าแบรนด์เนมอีกด้วย ราคาของสิ่งของต่างๆ เหล่านี้นั้นถูกอย่างไม่น่าเชื่อ
ลูกค้าประจำคนหนึ่งของตลาดแห่งนี้ ตั้งใจที่จะซื้อกระเป๋ายี่ห้อ Coach สีชมพูใบหนึ่ง "ฉันเป็นลูกค้าประจำของที่นี่มาตลอด แต่ส่วนใหญ่สิ่งของแบรนด์เนมนั้นหมดเร็วมาก" แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว สิ่งของเพียง 30% เท่านั้นที่มีคนซื้อไป สำหรับสิ่งของต่างๆ ที่เหลือนั้นทางบริษัท PX Co., ได้ทำการขายต่อไปให้ประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์หรือแม้กระทั้งประเทศไทยก็ตาม
หลายๆ คนอาจคิดว่า บริษัท PX Co., นั้นได้กำไรมหาศาลจากการขายของที่ตลาดเหล่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาไม่ได้มีกำไรมากอย่างที่คิด "เรามองตลาดมือสองที่เราจัดขึ้นเหมือนเทศกาล มันทำให้เรามีความสุขมากที่เห็นผู้คนมากมายมาที่ตลาดของเรา" นายโยกิกล่าว "สิ่งของเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยหาย เคยไม่มีเจ้าของ แต่มีคนจิตใจดีที่อยากจะส่งสิ่งของเหล่านี้คืน ส่วนหนึ่งของผมนั้นอยากจะส่งต่อความดีโดยการจัดกิจกรรมตลาดมือสองนี้ขึ้นมา"
ที่มา :Japantimes
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!