เว็บไซต์ อินคาราเบีย รายงานว่า ประเทศจอร์แดนวางแผนจะใช้ "โครงการฝนหลวง" ของประเทศไทยเพื่อกระตุ้นและเพิ่มการกลั่นตัวของหยดน้ำในอากาศทั่วประเทศ หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนทรัพยากรน้ำอย่างรุนแรง เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประเทศจอร์แดนขอพระบรมราชานุญาต ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการผลิตฝนหลวงของไทย โดยลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.52
นายโมฮัมหมัด ซามาวี ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งจอร์แดน กล่าวว่า ประเทศจอร์แดนถูกจัดอันดับในกลุ่มประเทศขาดแคลนน้ำที่สุดในโลก ซึ่งเป็นภัยคุกคามสูงสุดในด้านสาธารณสุขของประเทศ ตลอดจนข้อจำกัดในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โครงการฝนหลวงได้รับการพัฒนาครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 โดย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพบเทคนิคใหม่เพื่อทำให้เมฆหนาแน่นและเพิ่มปริมาณน้ำฝน
ก่อนหน้านี้ ประเทศจอร์แดนพยายามผลิตฝนเทียมด้วยตัวเองในช่วง พ.ศ.2532-2538 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิคหลายประการ สำหรับการผลิตฝนหลวงในจอร์แดนจะดำเนินการตลอด 2 ปีข้างหน้า ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพอากาศ กระทรวงทรัพยากรน้ำ และกระทรวงเกษตรแห่งจอร์แดน
ทั้งนี้ แหล่งทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ในจอร์แดนอยู่ที่ 800-900 ล้านคิวบิกเมตร/ปี ซึ่งเพียงพอต่อการตอบสนองประชาชนเพียง 3 ล้านคน แต่จำนวนผู้บริโภคในจอร์แดนสูงกว่า 10 ล้านคน โดยประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางการจึงเร่งใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อหาโอกาสใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รายงานข่าวระบุว่า ประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่จำกัด จึงมีการปรับปรุงเทคโนโลยีฝนหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางโครงการฝนเทียมในเขตร้อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรของประเทศไทยรับผิดชอบโครงการทดลองและเทคโนโลยีให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง