สำนักงานกำกับดูแลด้านการปฏิสนธิของมนุษย์และคัพภวิทยาในสหราชอาณาจักร อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ตัดต่อพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ได้เป็นครั้งแรก เพื่อใช้สำหรับงานศึกษาและวิจัยเรื่องพัฒนาการตัวอ่อนมนุษย์
การวิจัยซึ่งจะมีขึ้นที่สถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับช่วงเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ซึ่งทีมนักวิจัยจะใช้ตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้รับการบริจาคในการศึกษาครั้งนี้
สำหรับการทดลองจะเป็นการศึกษาในช่วง 7 วันแรกภายหลังการปฏิสนธิ เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งบุตรตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถนำตัวอ่อนดังกล่าวใส่เข้าไปในร่างกายของผู้หญิงได้ เพราะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ดร.เคธี เนียคัน ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า การศึกษาเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้แพทย์มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการแท้งบุตรและการมีบุตรยาก ขณะที่พอล เนิร์ส ผู้อำนวยการสถาบันฟรานซิส คริกบอกว่างานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยให้เข้าใจว่าตัวอ่อนมนุษย์สุขภาพดีมีพัฒนาการอย่างไร และจะช่วยเพิ่มความเข้าใจเรื่องอัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว
ทั้งนี้ งานวิจัยจากประเทศจีนเมื่อปีที่แล้ว ที่ทำการตัดต่อดัดแปลงหน่วยพันธุกรรม หรือยีนในตัวอ่อนมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก เพื่อแก้ไขยีนที่ทำให้เกิดโรคเลือดนั้น ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง โดยบางคนระบุว่า การเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของตัวอ่อนมนุษย์เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและจะนำไปสู่การออกแบบทารกให้มีความสมบูรณ์แบบตามความต้องการของพ่อแม่ #HumanEmbryos #Designerbaby
ภาพประกอบ (แฟ้มภาพ) กระบวนการแช่แข็งตัวอ่อนมนุษย์ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
ขอขอบคุณ บีบีซีไทย - BBC Thai