ไต้หวัน ซึ่งถูกยกให้เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีความตื่นตัวด้านประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ ซินดี้ ซุย ผู้สื่อข่าวบีบีซี ชี้ว่า นี่อาจเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของไต้หวัน
ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวตัดสินทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมองไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งที่แยกตัวออกไปและหวังว่าวันหนึ่งจะได้กลับมารวมกันอีกครั้ง
ในช่วง 8 ปีที่ประธานาธิบดีหม่า อิง-จิว จากพรรคก๊กมินตั๋งเข้าบริหารไต้หวัน เขาได้มุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน ทำให้ในยุคนี้ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ในระดับที่เป็นมิตรกันมากที่สุด นับแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในจีนเมื่อปี พ.ศ. 2492 อย่างไรก็ตาม เมื่อนายหม่าพ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาจะไม่สามารถกลับเข้ารับตำแหน่งได้อีก
ขณะเดียวกัน มีชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกไม่สบายใจกับพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งสนับสนุนหลักการ "จีนเดียว" และเดินหน้าเจรจาข้อตกลงด้านต่างๆและสานสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน ผู้สื่อข่าวบีบีซี ระบุว่า คนกลุ่มนี้น่าจะเทคะแนนให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคก๊กมินตั๋ง
นอกจากนี้ การต่อสู้เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โดยผลสำรวจล่าสุดบ่งชี้ว่า พรรคก๊กมินตั๋ง เสี่ยงจะสูญเสียเสียงข้างมากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน
ผู้สื่อข่าวบีบีซี บอกว่า นโยบายผูกมิตรกับจีนของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง แม้จะนำมาซึ่งผลดีทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ การเปิดเที่ยวบินตรงจีน-ไต้หวันครั้งแรก รวมทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและวิชาการเพิ่มขึ้น และมีนักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไต้หวันเมื่อปีก่อนราว 4 ล้านคน แต่ก็มีชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อย ซึ่งแม้จะยินดีที่ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายลดลง แต่ขณะเดียวกันก็เกรงว่านโยบายผูกมิตรดังกล่าวจะทำให้ไต้หวันพึ่งพิงด้านเศรษฐกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่มากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่ภัยทางการเมือง อย่างการสูญเสียอธิปไตยของไต้หวัน
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีขึ้นในช่วงที่ไต้หวันกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยเมื่อปีก่อนเศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวไม่ถึง 1% ส่วนอัตราการว่างงานก็พุ่งสูง และไม่มีการขึ้นค่าแรงแม้ว่าบริษัทต่าง ๆจะมีผลกำไรก็ตาม ส่งผลให้หลายฝ่ายเชื่อว่า นโยบายผูกมิตรกับจีน ส่งผลดีต่อเจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่ชาวบ้านทั่วไปกลับไม่ได้ประโยชน์ไปด้วย
ผู้สื่อข่าวบีบีซี ชี้ว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนี้ยังส่งผลในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย เนื่องจากไต้หวันถูกมองว่าเป็นดินแดนที่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่น ๆในเอเชีย ไต้หวันยังเป็นสังคมชาวจีนเพียงแห่งเดียวที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอย่างทั่วถึงตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งนี่อาจมีอิทธิพลต่อการพัฒนาด้านประชาธิปไตยของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะมีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายกัน
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังจะเป็นตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน เพราะหากพรรคดีพีพี ชนะการเลือกตั้งแล้วดำเนินนโยบายต่อต้านจีน ก็จะส่งผลเสียต่อการค้า การท่องเที่ยว และด้านอื่น ๆที่ไต้หวันทำข้อตกลงกับจีนก่อนหน้านี้ แต่หากพรรคก๊กมินตั๋งเป็นฝ่ายชนะ ก็จะทำให้มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น จนอาจพัฒนาเป็นสันติภาพที่ยั่งยืน แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องอธิปไตยของไต้หวันก็ตาม
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังอาจส่งผลต่อสันติภาพในภูมิภาคด้วย เพราะหากพรรคดีพีพีชนะการเลือกตั้ง และพยายามตีตัวออกห่างจีน ก็อาจทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนั่นไม่เพียงจะสร้างความกังวลให้ชาวไต้หวัน แต่ยังรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และสหรัฐฯด้วย โดยสหรัฐฯมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องช่วยไต้หวันปกป้องตนเองในยามที่เกิดความขัดแย้งทางการทหาร และแม้จะไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามระหว่างไต้หวันกับจีน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ ขณะที่จีนก็แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน
ทั้งนี้ ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า นางไช่ อิง-เหวิน ผู้สมัครชิงตำแหน่ง
ประธานาธิบดีจากพรรคดีพีพี มีคะแนนนิยมนำโด่งที่ราว 45% ส่วนนายอีริค ชู ผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง มีคะแนนนิยมราว 20% ขณะที่นายเจมส์ ซุง ผู้สมัครจากพรรคพีเพิล เฟิสต์ปาร์ตี้ (พีเอฟพี) มีคะแนนนิยม 10% ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เหลืออีกราว 25% บอกว่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ใด โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 700,000 คน ซึ่งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่บางคนนิยมพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ชูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-35192142
ขอขอบคุณ บีบีซีไทย - BBC Thai