การสังหารเชคนิมร์ อัล-นิมร์ ผู้นำมุสลิมนิกายชีอะห์คนสำคัญซึ่งซาอุดีอาระเบียระบุว่ามีความผิดฐานก่อการร้าย ตามมาด้วยเหตุโจมตีสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงเตหะราน ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเดินมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าร้าวฉานที่สุดในรอบ 30 ปี และจะส่งผลพวงให้โอกาสในการแก้วิกฤตทางการทูตระหว่างซีเรียกับเยเมนยิ่งห่างไกลออกไปทุกที
คริสเตียน โคอาเทส อุลริชเซิน นักวิจัยในโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบัน Chatham House ในกรุงลอนดอน เห็นว่าความไม่ลงรอยกันในครั้งนี้ร้ายแรงพอ ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 (พ.ศ.2523-2532) ซึ่งสองชาติเคยตัดสัมพันธ์กันมาแล้วในปี 2531-2534
ซาอุดีอาระเบียและรัฐบาลชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เชียนั้นเชื่อมโยงรัฐบาลอิหร่านในยุคหลังการปฏิวัติอิสลามกับการเติบโตของนักรบชีอะห์ กับการปฏิวัติที่ล้มเหลวในบาห์เรนเมื่อปี 2524 และกับความพยายามลอบสังหารผู้นำคูเวตในอีกสี่ปีถัดมา
ในขณะที่กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ อัล เฮจัซ องค์กรซึ่งได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่าน ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 ตามแนวทางกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน เคยออกแถลงการณ์ข่มขู่ราชวงศ์ซาอุฯ อยู่เนือง ๆ รวมทั้งก่อเหตุโจมตีหลายครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในช่วงปลายทศวรรษ 1980 (พ.ศ.2523-2532) ซึ่งขณะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุฯ ตึงเครียดมากขึ้น
สำหรับเหตุผลที่ทำให้นักวิจัยในโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบัน Chatham House มองว่าความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ถือได้ว่าอันตรายพอ ๆ กับเมื่อกว่า 30 ปีก่อนนั้น ก็ด้วยเหตุผลหลัก ๆ สามประการ
ประการแรกความแตกต่างทางนิกายในการนับถือศาสนา เป็นชนวนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวซุนนีกับชีอะห์และทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างอิหร่านกับชาติเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เชีย บรรยากาศความขัดแย้งที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อเช่นนี้ ทำให้กลุ่มสายกลางอ่อนแอ ขณะที่ฝ่ายที่ยึดมั่นในหลักการจัดการปัญหาความสัมพันธ์ในภูมิภาคต่างพากันสงวนท่าที
ประการที่สอง ในช่วงสี่ปีมานี้ชาติในอ่าวเปอร์เชียต่างดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงแข็งกร้าวมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบโต้ที่อิหร่านเข้ามาก้าวก่ายความขัดแย้งในภูมิภาค อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไม่วางใจบทบาทของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง หลายชาติในอ่าวเปอร์เชียเห็นว่าภัยคุกคามจากอิหร่านไม่ได้มีเพียงโครงการนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยที่จะเกิดจากกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ และกลุ่มกบฏฮูธีที่อิหร่านสนับสนุนด้วย ขณะที่การประกาศจัดตั้งกองกำลังพันธมิตรต่อต้านการก่อการร้ายนำโดยซาอุดีอาระเบียล่าสุดก็ชี้ให้เห็นว่าซาอุฯ จะไม่ยอมประนีประนอมอีกต่อไปแล้ว
ประการสุดท้าย อุลริชเซิน เห็นว่าการประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างซาอุฯ และอิหร่าน เปรียบได้กับเสียงระฆังแห่งความหายนะในแง่ของความพยายามแก้วิกฤตสงครามความขัดแย้งระหว่างเยเมนกับซีเรีย และทำให้ความตกลงหยุดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาไร้ผล ขณะที่การเจรจาที่มีสหประชาชาติเป็นตัวกลางซึ่งมีกำหนดจะเริ่มขึ้นอีกครั้งกลางเดือนมกราคมนี้และเจรจาสันติภาพซีเรียที่จะจัดขึ้นปลายเดือน ม.ค.นี้ที่เจนีวาอาจไม่เกิดขึ้น