วิวาห์ปูทะเลยักษ์ งานแปลกตรัง
"วิวาห์ปูทะเลยักษ์"
นอกจากจังหวัดตรังจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป สำหรับการจัดงานวิวาห์ใต้สมุทร ในช่วงวันวาเลนไทน์ หรือเทศกาลแห่งความรักของทุกๆ ปีแล้ว ยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีลักษณะการจัดงานคล้ายกัน และสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมไม่น้อย
ต้องถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะเจ้าภาพก็คือ นายอารี วงศ์อารยะ รมว.หาดไทย ที่อุตส่าห์เดินทางมากระทำพิธีวิวาห์ให้กับ "ปูทะเลยักษ์" โดยปูยักษ์ฝ่ายเจ้าบ่าวนั้น มาจากจังหวัดกระบี่ มีขนาด 19 เซนติเมตร หนัก 2 กิโลกรัม
ส่วนปูยักษ์ฝ่ายเจ้าสาว เป็นเจ้าถิ่นชาวตรัง มีขนาดใหญ่กว่าคือ 20.1 เซนติเมตร แต่หนักเท่ากันคือ 2 กิโลกรัม
"วัตถุประสงค์เพื่อขยายพันธุ์ปูทะเล"
โดยปูยักษ์ฝ่ายเจ้าบ่าว ได้มาจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดกระบี่ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับได้ เมื่อประมาณปลายปี 2547 หรือช่วงที่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และเห็นว่าปูตัวนี้มีขนาดใหญ่มาก จึงนำมามอบให้กับทางศูนย์ เพื่อทำการขยายพันธุ์
ส่วนปูยักษ์ฝ่ายเจ้าสาว ได้มาจากชาวประมงพื้นบ้าน พื้นที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง จึงนำมามอบให้กับนายประสาน ทุ่ยอ้น อาจารย์โรงเรียนบ้านหยงสตาร์ และได้นำมามอบต่อให้กับทางสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง เพื่อทำการขยายพันธุ์ต่อไปเช่นเดียวกัน
นายสุภาพ ไพรพนาพงศ์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง บอกถึงที่มาของการจัดงานวิวาห์ "ปูทะเลยักษ์" ว่า เพื่อเป็นการสร้างบ้านให้ปูทะเล และเป็นการขยายพันธุ์ปูทะเล ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่เริ่มจะหายากในยุคปัจจุบันนี้
"คาดว่าลูกปูที่ได้จะนำไปปล่อยคืนตามแหล่งน้ำธรรมชาติ"
ปกติปูทะเลจะมีการผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี แต่ในระยะการอนุบาลนั้นจะเป็นช่วงที่ทำได้ยาก ซึ่งต้องมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ขณะนี้ปูทั้งคู่อยู่ในความดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง และคาดว่าไม่เกิน 6 เดือนนี้ปูยักษ์ฝ่ายเจ้าสาวน่าจะตั้งท้องและฟักไข่
จากนั้นจะต้องอนุบาลให้มีขนาด 1-2 เซนติเมตร ถึงจะสามารถปล่อยให้ไปอยู่ตามธรรมชาติได้
สำหรับลูกปูยักษ์รุ่นแรกที่เกิดจากเจ้าบ่าว-เจ้าสาวคู่นี้ จะมีการนำไปปล่อยในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง แหล่งที่มาของแม่ปูยักษ์ และบางส่วนจะนำมอบคืนให้กับจังหวัดกระบี่ บ้านเกิดของพ่อปูยักษ์ แต่หากยังคงเหลือลูกปูยักษ์ที่อนุบาลแล้วมีความแข็งแรง ก็จะมีการนำไปปล่อยเพิ่มในพื้นที่ป่าชายเลนที่เหมาะสม เพื่อเป็นการคืนพันธุ์ปูทะเลสู่ธรรมชาติต่อไป