จนกระทั่งเมื่อวันก่อน นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.ชต.) อดีตนายอำเภออมก๋อย ปี 2532 และอดีตพ่อเมืองเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานสนับสนุนการท่องเที่ยว "ช้างไถนาที่บ้านแสนดอย" ถนนเลียบคลองชลประทาน ต.หนองควาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่
นายพระนาย กล่าวในวันนั้นว่า เป็นฤกษ์ดีที่ถือเอาวันดี วันที่ 8 เดือน 8 บนพื้นที่ 8 ไร่ โดยใช้ช้าง 8 เชือก และเริ่มงานเวลา 08.08 น. เป็นการจัดงานที่สนับสนุนการท่องเที่ยวที่ยกเอาแบบอย่างมาจากวิถีชาวบ้านที่บ้านนาเกียน อ.อมก๋อย เพื่อให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมชีวิตความเป็นมาของชาวบ้านในอดีต
ด้าน นางวันเพ็ญ ศักดาทร และ คุณฮาเกิน เอ.เว. เดียร์คเซิน กงสุลกิตติมศักดิ์สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของบ้านแสนดอย รีสอร์ต แอนด์ สปา และห้องอาหารแสนคำเทอเรซ เล่าถึงที่มาของกิจกรรมช้างไถนาว่า เกิดจากแนวคิดของ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ท่านเคยเป็น ผวจ.เชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ.2539-2541 ต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ จึงหยิบยกเอาวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงจากอมก๋อยคือช้างไถนา มาแสดงให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติชมที่หมู่บ้าน
"การใช้ช้างไถนาความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านนาเกียน หมู่ 3 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ใช้ช้างไถนามาหลายชั่วอายุคนแล้ว เพียงแต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งอยู่บนยอดเขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200-1,600 เมตร และตัวอำเภออมก๋อยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึง 179 กิโลเมตร ด้วยความทุรกันดารของหนทาง จึงยึดอาชีพเกษตรกรรม ทำนาดำแบบขั้นบันได และปลูกพืชไร่เพื่อเลี้ยงชีพ"
"และข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์อันเป็นที่ลาดเชิงเขา มีหินปะปนอยู่มาก ทำให้การไถนาด้วยควายทำงานได้น้อยและเหนื่อยง่าย ประกอบกับในวิถีชีวิตชาวบ้านราว 100 ครัวเรือน เลี้ยงช้างไว้กว่า 20 เชือก เมื่อถึงฤดูกาลทำนา จึงจับช้างที่เลี้ยงไว้มาไถนา เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์ใหญ่ แข็งแรงกว่าวัวควาย"
นางวันเพ็ญ กล่าวสรุปที่มาให้ฟัง
ในขั้นตอนการทำนานั้นมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจากบ้านนาเกียนที่ผ่านประสบการณ์ใช้ช้างไถนามาร่วมสาธิต และดูแลการไถนาของช้าง 2 เชือก คือ พังขวัญจิต กับ พลายสมใจ จากปางช้างแอลลี่ ต.แม่ตะมาน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังมีลูกช้างคำตุลย์ กับทองพูน มาคอยให้กำลังใจและต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน
โดยช้างคำตุลย์ กับทองพูน จะถูกตกแต่งด้วยเครื่องแต่งตัวแบบเผ่ากะเหรี่ยง เช่นเดียวกับแขกที่เข้าร่วมงานเครื่องแต่งกายเผ่ากะเหรี่ยงไว้ให้ใส่ลงแปลงนา
หลังจากช้างไถนาเสร็จแล้วมีการปลูกข้าว ที่ใช้ต้นกล้า 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิสันป่าตอง, ข้าวก่ำดอยสะเก็ด, ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล ล้วนเป็นพันธุ์ข้าวเก่าแก่ของท้องถิ่น และมีคุณสมบัติโดดเด่นเฉพาะตัว
โดยปกติแล้วทางบ้านแสนดอยจะมีการทำนาข้าวอินทรีย์ และจำหน่ายผลผลิตหารายได้ช่วยการกุศลทั้งโรงพยาบาล และโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2551 ที่ผ่านมา นำรายได้จำนวน 500,000 บาท จากการขายข้าวถุงละ 1,000 บาท มอบให้กับ ร.พ.วัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และในปี 2552 มีเป้าหมายที่จะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปมอบให้กับ ร.พ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
นายวันเพ็ญ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถือว่ากิจกรรมครั้งนี้มีประโยชน์รอบด้าน ไม่เพียงแค่เกิดผลผลิตข้าวคุณภาพเหมาะสมต่อผู้บริโภค และได้กุศลจากการนำรายได้บริจาคช่วยองค์กรต่างๆ เท่านั้น หากยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ให้คนทั่วโลกได้รู้จักช้างไทยในอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยปรากฏแพร่หลายมาก่อน
แต่สามารถพิสูจน์และสัมผัสได้อย่างแท้จริง ณ บ้านนาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าวคุณภาพดี โดย : หนังสือพิมพ์ข่าวสด