ตะลึง!พบสัตว์ชนิดใหม่ของโลก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ชั้น 9 อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ผศ.ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาราชภัฏนครราชสีมา ดร.ชวลิต วิทยานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ดร.รัตนาภรณ์ หันตา นักวิจัยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ได้ร่วมกันแถลงข่าว การค้นพบสัตว์ใหม่ของโลก 2 ชนิด ซึ่งมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
   
ดร.รัตนาภรณ์ ผู้ค้นพบฟอลซิลหมูดึกดำบรรพ์ กล่าวว่า ซากฟอสซิลที่พบเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทหมูดึกดำบรรพ์ สกุล Merycopotamus ถือเป็นสัตว์ชนิดใหม่ของโลก มีอายุประมาณอยู่ระหว่าง 6-8 ล้านปี ค้นพบจากแอ่งตะกอนยุคเทอเชียรี-ควอเทอนารี ลุ่มแม่น้ำมูลใน จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยด้านบรรพชีวิน ที่ได้นำเสนอตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Journal of Vertebrate Paleontology เมื่อต้นปีนี้ สำหรับฟอสซิลหมูดึกดำบรรพ์ Merycopotamus thachangensis นี้ ถูกตั้งชื่อชนิดให้มีความหมายว่า แห่งท่าช้างเพราะพบจากแหล่งขุดทรายใน ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ มีลักษณะหัวกะโหลกเรียวและแบน มีรูจมูกอยู่ในระดับเดียวกับตา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงลักษณะ และนิสัยการเป็นอยู่คล้ายฮิปโปโปเตมัสขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.8 ม. ลักษณะของลายบนหน้าฟันแสดงได้อย่างชัดเจนว่า มีลักษณะรูปร่างที่แบนกว่า สันนิษฐานว่า น่าจะกินพืชเป็นอาหาร ตามลักษณะรูปร่างของฟัน 

ด้าน ดร.ชวลิต ผู้ค้นพบปลากระเบนบัว เปิดเผยว่า ปลากระเบนบัว หรือกระเบนหางยาว เป็นชื่อเรียกพื้นบ้านของชาว จ.สงขลา และพัทลุง อยู่ในสกุล Himantura จะถูกตั้งชื่อชนิดให้มีความหมายว่า แห่งทะเลสาบสงขลา" singoraense มีลักษณะรูปร่างกลมคล้ายใบบัว ปลายจะงอยปากแหลม มีแถวฟันบนขากรรไกรน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ ในกลุ่มชนิดที่เคยพบมา คือ มี 18 แถว ที่ขากรรไกรบน และ 24-29 แถว ที่ขากรรไกรล่าง มีขนาดใหญ่สุดกว้าง 1.3 ม. มีน้ำหนักถึง 50 กก. แต่ขนาดทั่วไปที่จับได้กว้าง 0.7 ม. มีน้ำหนัก 20-35 กก. อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนใน ช่วงเขต อ.เกาะใหญ่, อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา การค้นพบปลากระดูกอ่อนขนาดใหญ่นี้ นับเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของทะเลสาบสงขลาที่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ แต่จำเป็นต้องเร่งอนุรักษ์คุณภาพของน้ำในทะเลสาบสงขลา เนื่องจากปลาชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างมาก จากที่เคยจับได้ปีละ 200-300 ตัว (3,000-5,000 กก.) ต่อปี เมื่อประมาณปี 2530-2538 เหลือเพียงรายงานจับได้ประมาณ 10 ตัวต่อปีในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกรงว่า ปลาชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์