คนว่างงานเดือน ก.ย. พุ่ง 4.3 แสน อีสานครองแชมป์

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 พ.ย.) ว่า รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยจำนวนผู้ว่างงานล่าสุด ในเดือน ก.ย. 51 มีจำนวน 4.32 แสนคน

หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.1% ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้น 37.76 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5,000 คน แยกเป็นผู้ว่างงานชาย 3.01 แสนคน ผู้หญิง 1.31 แสนคน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการว่างงานสูงสุดในอัตรา 1.3% รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ ที่มีอัตราการว่างงาน 1.2% ภาคใต้ 1% ขณะที่ภาคกลางมีอัตราว่างงานน้อยที่สุด 0.9% 


ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนประมาณ 1.62 แสนคน


ส่วนผู้ว่างงานที่เคยมีงานทำมาก่อน 2.70 แสนคน แยกเป็นผู้ว่างงานที่มาจากนอกภาคเกษตรกรรม 2.43 แสนคน คือภาคการผลิต 1.33 แสนคน และภาคบริการ 1.10 แสนคน สำหรับผู้ว่างงานภาคเกษตรกรรมมี 27,000 คน โดยผู้ที่ว่างงานส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาในระดับประถมศึกษาและอุดมศึกษา ที่มีจำนวนเท่ากันคือ 1.07 แสนคน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 95,000 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 91,000 คน และผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 32,000 คน

สำหรับผู้มีงานทำมีจำนวน 37.19 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7 แสนคน ที่มีผู้มีงานทำ 36.52 ล้านคน


ส่วนใหญ่ผู้มีงานทำในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 6.6 แสนคน คือเพิ่มจาก 14.18 ล้านคน เป็น 14.84 ล้านคน ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 10,000 คน จาก 22.34 ล้านคนเป็น 22.35 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นในสาขาการขนส่ง 1.4 แสนคน สาขาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.0 แสนคน สาขาการโรงแรม/ภัตตาคาร และสาขาการบริหารราชการและการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น 40,000 คน สาขาขายส่ง/ขายปลีกเพิ่มขึ้น 10,000 คน ขณะที่ในสาขาการผลิตลดลง 3.8 แสนคน ที่เหลืออยู่ในสาขาอื่น ๆ
 


ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ก่อนหน้านี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในวันที่ 24 พ.ย. นี้ จะเชิญสมาชิกทั่วประเทศหารือแนวทางแก้ปัญหาปลดพนักงานรวมถึงประเมินตัวเลขการเลิกจ้างงานที่แท้จริงในปี 51-52


เนื่องจากผลสำรวจอย่างไม่เป็นทางการมียอดคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) ลดลง 20-30% ซึ่งในเบื้องต้นนายจ้างได้ยืนยันที่จะรักษาแรงงานได้เพียงปลายปีนี้เท่านั้น
ขณะที่นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรีได้เตรียมแผนรับมือไว้ คือ การจัดแรงงานไปโรงงานอื่นภายในจังหวัด, การฝึกอบรมแรงงานให้มีทักษะการทำงานในสาขาอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานเพิ่ม, การฝึกอบรมในสายอาชีพที่แรงงานต้องการ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลังร่วมมือกันหาสินเชื่อเพื่อการศึกษาสำหรับแรงงานที่ต้องการศึกษาต่อ

ส่วนทางเลือกสุดท้าย คือ ให้สถานประกอบการคงการจ้างงานไว้ โดยภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพแรงงาน และการประกอบอาชีพเสริมหากมีความจำเป็นต้องลดชั่วโมงการทำงาน

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์