ที่ผ่านมาไทยเสียหายจากภัยธรรมชาติเป็นแสนล้านบาทแล้ว หากจะลงทุนอีกแค่ไม่กี่ร้อยล้านก็อย่าขี้เหนียวเลย
เมื่อเวลา 08.10 น. วันที่ 30 พ.ค. พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม ครม. ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากอุทกภัยว่า ในที่ประชุม ครม. จะพูดคุยเรื่องน้ำท่วมมากเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือและการติดตามผลงานที่ได้สั่งการไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คงจะมีน้ำบ่าเข้าไปที่ จ.พิษณุโลก มากขึ้น และที่เป็นห่วงคือฝนจะตกทางภาคเหนือตอนบนมากขึ้นด้วย
ด้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอขออนุมัติงบประมาณติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดภาคเหนือวงเงิน 288 ล้านบาท ว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้ช่วย รมต.ทรัพยากรธรรมชาติฯ และนายสมิทธ ธรรมสโรช ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เสนอ 3 แนวทาง คือ 1. การบูรณาการหน่วยงานต่างๆที่จะได้รับข้อมูลครบถ้วนเพื่อนำไปสู่การพยากรณ์ที่ถูกต้อง 2. ทำอย่างไรที่จะสื่อสารไปยังพี่น้องประชาชนให้เตรียมการอพยพได้ทันท่วงทีด้วยความปลอดภัยและลดความสูญเสีย และ 3. แนวทางการบริหารศูนย์เตือนภัยแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต่อไปควรต้องมีระบบเตือนภัยกลางที่สามารถเตือนภัยผู้คนทั้งประเทศทุกจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติอะไรก็แล้วแต่
นายสมิทธ ธรรมสโรช กล่าวว่า ขณะนี้มีการติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่ภาคใต้บริเวณอ่าวไทย 14 จังหวัด 48 จุด และจะมีการติดตั้งเพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนืออีก 144 จุด ใน 15 จังหวัด คาดว่าจะติดตั้งได้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะไปติดตั้งที่ไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่ 3 จุด ระบบดังกล่าวสามารถเตือนภัยได้ทั้งน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โคลนถล่ม ไฟป่า มีความแม่นยำสูง ได้ รับการรับรองจากต่างประเทศ สามารถเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้าได้ 1 ชั่วโมง ใช้เงินลงทุนเพียงไม่กี่ร้อยล้าน ที่ผ่านมาไทยเสียหายจากภัยธรรมชาติเป็นแสนล้านบาทแล้ว หากจะลงทุนอีกแค่ไม่กี่ร้อยล้านก็อย่าขี้เหนียวเลย อย่างไรก็ตาม อยากให้ระวังช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีฝนตกหนักต่อเนื่องไปถึงเดือน ต.ค. และ พ.ย. ที่ น้ำทะเลจะหนุน และมีน้ำเหนือไหลบ่ามารวมกันที่ กทม. ขณะเดียวกันจะมีลมพายุจากมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ามา อาจส่งผลให้น้ำท่วม กทม.และแม่น้ำเจ้าพระยาได้
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.มหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยจะเสนอขอ ครม. อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 6 จังหวัดภาคเหนือ โดยบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายบางส่วน จะขออนุมัติงบประมาณซ่อมแซมเพิ่มเติมจากเดิม 2 หมื่นบาทต่อหลัง เป็น 4 หมื่นบาทต่อหลัง พร้อมจ่ายค่าชดเชยในการซ่อมแซมบ้านให้ 3 หมื่นบาทต่อหลัง นอกจากนี้มูลนิธิไทยคมจะร่วมก่อสร้างบ้านหลังใหม่ให้บางส่วน ส่วนประชาชนที่ประสงค์จะสร้างบ้านเองก็จะสนับสนุนงบประมาณให้ 6 หมื่นบาทต่อหลัง จากเดิม 2 หมื่นบาทต่อหลัง นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะขออนุมัติขยายวงเงินโครงการเสริมสร้างศักยภาพหมู่บ้าน/ชุมชนให้เข้มแข็ง (เอสเอ็มแอล) เป็นกรณีพิเศษ โดยอาจเพิ่มงบให้อีก 1-2 เท่าตามความจำเป็น เพื่อให้คณะกรรมการหมู่บ้านและประชาชนไปร่วมกันคิดและดำเนินโครงการที่ต้องการ
ภายหลังการประชุม ครม. น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดแก้ไขและฟื้นฟูเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1. ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรัฐ และนำงบท้องถิ่นมาสมทบดำเนินการ 2. เร่งรัดดำเนินการหาศพผู้เสียชีวิต 3. เร่งซ่อมแซมถนนที่เสียหาย ให้กระทรวงคมนาคมไปทำความเข้าใจเรื่องเส้นทางน้ำ เปลี่ยนแนวเส้นถนนที่ขวางเส้นทางน้ำ เพื่อไม่เป็นปัญหาในอนาคต นอกจากนี้ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถ่ายภาพดาวเทียมเส้นทางน้ำเพื่อเป็นฐานประกอบการดำเนินการ 4. ให้กระทรวงมหาดไทยดูแลครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนรุนแรงตามลำดับ 5. ให้กรมป่าไม้ทำแผนเพื่อฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด
สำหรับกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการให้ ความช่วยเหลือเกี่ยวกับหนี้สินสถาบันทางการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธ.ก.ส.) จะจำหน่ายลูกค้าที่เสียชีวิตให้เป็นหนี้สูญ หรือหากไม่เสียชีวิตจะขยายเวลาชำระเงินต้น ไม่คิดดอกเบี้ยไปอีก 3 ปี รวมทั้งเร่งออกเงินกู้ใหม่ ส่วนธนาคารออมสินจะพักชำระหนี้เงินกู้ โดยจะขยายเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไปอีก 6 เดือน สำหรับผู้ที่เดือดร้อนรุนแรงจะขยายไป 1 ปี และลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อจากเดิม ร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 0.5 เป็นเวลา 1 ปี รวมทั้งกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตจะขยายเวลายื่นภาษีไปอีก 1 เดือน