นายวิชัย กล่าวว่า เป็นคนชื่นชอบหนูนา ตอนเด็กยังเคยออกไปล่าหนูนาเพื่อนำมาประกอบอาหารทั้งแกง อ่อม ปิ้ง ย่าง และผัด แต่ก่อนจะได้กินหนูนาก็ช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือช่วงเกี่ยวข้าว พอโตขึ้นเวลาส่วนมากก็ทำงานไม่มีเวลาไปล่าหนูเหมือนตอนเด็กๆ แต่ยังคงชื่นชอบหนูนาจนกระทั่งได้สั่งหนูนาของเพื่อนมาไว้จำนวน 10 ตัว โดยตั้งใจว่าจะเอารับประทาน โดยขังไว้ในตุ่มน้ำ จนหนูเริ่มออกลูกขยายพันธุ์ มีจำนวนมาก เลยเริ่มปรึกษากัน และเห็นว่าน่าจะทดลองเลี้ยงแบบระบบฟาร์ม เลยเริ่มศึกษาด้วยตัวเองทางเว็บไซต์ และโซเชียลต่างๆ รวมถึงการขอความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และการลองผิดลองถูกเรียนรู้ด้วยใจรัก
"ต้องขอบคุณเพื่อนๆ ในโลกออนไลน์ที่กระหน่ำแชร์ กดไลค์ เพจฟาร์มหนูนากาฬสินธุ์ อย่างล้นหลาม คาดไม่ถึงว่าจะโด่งดังได้ขนาดนี้" นายวิชัย กล่าว
นายวิชัย กล่าวต่อว่า การเลี้ยงหนูนาและทำเป็นฟาร์ม เพราะความชอบหนูนา ชอบบริโภคมากกว่าเลี้ยง แต่เมื่อถึง ตอนที่มาเลี้ยงเองก็รู้สึกผูกพัน เลยคิดทำจำหน่ายเฉพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ไม่ขายหนูเนื้อ แต่ด้วยความที่ไม่หยุดนิ่ง และความคิดต่าง หากเป็นไปได้ก็จะพัฒนา ปรับปรุงให้เป็นสากลมากขึ้น โดยเฉพาะการจำหน่ายหนูเนื้อ โดยมีกลุ่มผู้ บริโภคทุกเพศทุกวัย และยิ่งไปกว่านั้นคือการทำให้เป็น OTOP เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือขึ้นห้างเหมือนเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ
นี่เป็นเพียงความหวังของเด็กรุ่นใหม่ จากนี้ยังต้องศึกษาวิธีการและแนวทางอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเติบโต ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว ทำให้รู้ว่าหนูนาเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก ทั้งสนใจที่จะทำฟาร์มเลี้ยง และนำไป บริโภค ขณะที่เรายังเป็นวัยรุ่นยังกลายเป็นแรงบันดาลใจของน้องๆ และเพื่อนๆ ที่คิดจะเริ่มทำอาชีพอย่างจริงจัง เหมือนอย่างที่เราทำ เพราะพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยใกล้เคียงกับเรา มาหาที่ฟาร์มมาซื้อ ขอความรู้คำแนะนำ ส่วนผู้ใหญ่ก็มีไม่น้อย ส่วนมากจะเดินทางมาจากต่างจังหวัดมาซื้อที่ฟาร์มเลย เพราะทางเรายังไม่จัดระบบส่งตรงถึงลูกค้า เนื่องจากอยากให้ลูกค้ามาเลือกตัวที่ชอบที่หน้าฟาร์มเลยจะดีกว่า
ตอนนี้ในฟาร์มมีหนูประมาณ 200-300 ตัว หนูนาแรกคลอดจะแยกไว้ในตะกร้าโดยป้อนนมแพะ หรือนมวัวแดงให้กิน เมื่อโตขึ้นจะจับหนูอาบน้ำด้วยแชมพูที่มีกลิ่นหอม ก่อนจะจับแยกมาลงท่อเพื่อเตรียมจำหน่าย เลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน สามารถจับจำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้แล้ว โดยขายอยู่ที่คู่ละ 500-900 บาท
ที่มา: ไทยรัฐ