พบกบชนิดใหม่ของโลกในไทย
"พบกบพันธุ์ใหม่ในไทย"
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เป็นประธานเปิดการประชุมวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ
ภายใต้หัวข้อ เรื่อง "ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" โดยมีนักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน
ผศ.ดอกรัก มารอด อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะหัวหน้าโครงการสำรวจและจัดทำข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่วิกฤตทางความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspots) กล่าวว่า
จากการวิจัยนำร่องพื้นที่เพชรบูรณ์-พิษณุโลก
เป็นตัวแทนของพื้นที่วิกฤตทางความหลากหลายทางชีวภาพค้นพบสัตว์ที่คาดว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใหม่ อย่างน้อย 2 ชนิด ที่น่าจะเป็นชนิดใหม่ (New species) ได้แก่ ค้างคาวจมูกหลอด (Murina sp.) และปาดแคระ (Philautus sp.)
ด้านนายธัญญา จั่นอาจ จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
(อพวช.) กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังสำรวจพบกบภูชนิดใหม่ของโลก พบได้เฉพาะถิ่นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จ.เลย โดยกบชนิดนี้มีลักษณะแปลกกว่ากบอื่นๆ เพราะลักษณะตัวบางครั้งจะมองเห็นเป็นสีเขียว แต่ถ้ากระโดดลงน้ำ ตัวอมน้ำเข้าไปมากๆ
ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาลออกเหลืองๆ คล้ายสีทอง
บนผิวหนังมีลายจุดดำๆ เรียงกันจำนวนมาก ปลายนิ้วแผ่เป็นวงกลม ตัวเมียมีขนาดใหญ่ โตตัวขนาด 60-80 มิลลิเมตร และยังพบว่ามีตัวเมียน้อยกว่าตัวผู้ แต่อย่างไรก็ตามพบว่า บริเวณที่พบมีการใช้สารเคมีมาก ซึ่งอาจจะทำให้ตัวอ่อนของกบ หรือ ลูกอ๊อด เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้
นายธัญญา กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งไปจำแนกชนิดพันธุ์
จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการตรวจสอบทางดีเอ็นเอ และลักษณะวิวัฒนาการเพื่อหาความแตกต่างทางกายวิภาค ผลสรุปพบว่าเป็นกบที่พบได้เฉพาะถิ่นเดียวในโลกและเป็นชนิดใหม่ของโลกด้วย" นายธัญญากล่าว
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด