อ้างหวั่นสูญพันธุ์-หนุนเลี้ยงตุ๊กแก
"ส่งเสริมให้เลี้ยงตุ๊กแก ตัวเงินตัวทองส่งออก"
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายวัฒนา เวทยประสิทธิ์ ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่า และพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงแนวความคิดการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเลี้ยงตุ๊กแก และตัวเงินตัวทองเพื่อการส่งออกนั้นว่า สำหรับโครงการดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
อย่างละเอียด เพราะจุดประสงค์หลัก
ของแนวคิดนี้คือการเพาะแพร่พันธุ์เพื่อไม่ให้สัตว์สูญพันธุ์ แม้ว่าปัจจุบันเราจะเห็นว่ายังมีอยู่เยอะ แต่ในอนาคตหากไม่ได้รับความสนใจอนุรักษ์ สัตว์เหล่านี้ก็อาจจะสูญพันธุ์ไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตนทราบ
ปัจจุบันในภาคอีสานมีการเลี้ยงกันอยู่บ้าง
เพราะชาวอีสานก็ใช้ตุ๊กแกเป็นยาแก้โรคตาน โรคซาง ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ส่วนตัวเงินตัวทอง ใช้หนังเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ทราบว่ามีการกินกันอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เป็นในกลุ่มเฉพาะ เพราะเนื้อมีสีขาวคล้ายกับเนื้อจระเข้หรือเนื้อไก่ แต่ไม่ถือว่านิยม ส่วนมากจะใช้ประโยชน์จากหนังมากกว่า
"สัตว์พวกนี้ถ้าเราไม่สนใจ คิดว่าเป็นสัตว์ทั่วไป
อนาคตอาจจะถูกฆ่าทิ้งจนสูญพันธุ์ไปได้ แต่ถ้าหากมีการส่งเสริมให้เพาะพันธุ์และนำมาใช้ประโยชน์ก็จะทำให้มันยังมีพันธุ์ต่อเนื่องไปได้ สัตว์เหล่านี้ส่วนมากจะอยู่ในภูมิภาคนี้
ในภาคอีสานในบางพื้นที่จะมีนักเรียนออกไป
จับตุ๊กแกเพื่อนำมาขายให้กับผู้ประกอบการซึ่งมีไม่มากนัก จังหวัดหนึ่งอาจจะมีพบสัก 1 แห่ง แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นรายได้หลัก จะทำเป็นรายได้เสริมเท่านั้น ในส่วนของกรมอุทยานฯ
ซึ่งขั้นตอนเริ่มแรกคงต้องทำความเข้าใจ
ให้ความรู้กับประชาชน ก่อนที่จะดำเนินเรื่องหาตลาด ส่งเสริมเป็นการส่งออก คงจะต้องให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ดูแลก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น คงจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องนี้" นายวัฒนากล่าว
ด้านนายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์
ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับแนวความคิดดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นตอนการริเริ่ม คงต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ จุดประสงค์คืออยากจะให้มีการเลี้ยงสัตว์อย่างมีระบบ
โดยเฉพาะสัตว์พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์
ที่ทำหน้าที่เก็บขยะคือกินซาก โดยเฉพาะตัวเงินตัวทอง ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับจระเข้ แต่ชื่อไม่ดีเท่านั้นเอง ในภาษาไทย ทั้งที่จริงแล้วเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ ถือเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อาหาร
นอกจากนี้ ยังทำให้สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยง จุดประสงค์หลักคือต้องการให้มีการอนุรักษ์ เพาะพันธุ์ มากกว่าจะให้จับไปกินหรือจับไปขายกัน
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด