ไทยเจ๋งผลิตชุดแถบสี ตรวจโรคธาลัสซีเมีย เป็นรายแรกของโลก
"แพทย์ไทยเจ๋ง ผลิดชุดแถบสีตรวจทาลัสซีเมีย"
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.)
ว่า ปัจจุบันโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรม
ที่ก่อให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่าย ตัวซีด บวมน้ำ และติดหวัดง่าย ทั้งนี้ ภาวะโลหิตจางจะรุนแรงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรตีนชนิดที่เรียกว่าอัลฟาโกลบิน ที่สร้างขึ้นในเม็ดเลือดแดง พ่อและแม่ที่เป็นพาหะของโรคอัลฟาธาลาซีเมีย จะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมของโรคไปสู่รุ่นลูกได้ โดยจากการสำรวจในประชาชนชาวไทย
พบว่ามีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย
ร้อยละ 1 ของประชากรและพบผู้ที่มียีนแฝง หรือเป็นพาหะของโรคอีกประมาณร้อยละ 40 ของประชากร หรือประมาณ 100 คน จะพบผู้ที่เป็นพาหะของโรคดังกล่าวสูงถึง 40 คน
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า
ที่ผ่านมา การตรวจพาหะโรคธาลัสซีเมียต้องตรวจถึงระดับสารพันธุกรรม หรือระดับดีเอ็นเอจึงจะทราบผล เป็นวิธีการค่อนข้างยุ่งยาก ต้องทำในห้องปฏิบัติการ และต้องใช้น้ำยาสารเคมีที่มีราคาแพง และกว่าจะทราบผลต้องใช้เวลานาน แต่ ขณะนี้นับเป็นข่าวดีของประเทศไทยและของโลก เมื่อนักวิจัยไทยสามารถคิดค้นและพัฒนาวิธีการตรวจพาหะของโรคธาลัสซีเมียขึ้นเป็นผลสำเร็จแล้ว
โดยนายวัชระ กสินฤกษ์ และนายชัชชัย ตะยาภิวัฒนา
จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำหรับวิธีการตรวจ คือการนำตัวอย่างเลือดมาทดสอบกับโมโนโคลนอลแอนติบอดี หรือชุดตรวจภูมิคุ้มกัน เป็นแถบสีที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความบริสุทธิ์มาก มีความไวและแม่นยำสูงในการตรวจหาสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคธาลัสซีเมีย
โมโนโคลนอลแอนติบอดี
จะแสดงผลการตรวจให้เห็นเป็นแถบสีบนแผ่นทดสอบ สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่าเพียง 3 นาที โดยการนำแถบสีดังกล่าวไปจุ่มกับเลือดของผู้ป่วย โดยผู้ที่เป็นโรค หรือผู้ที่เป็นพาหะจะแสดงผลบวก โดยเห็นเป็นแถบสีขึ้น 2 แถบ ในขณะที่คนปกติจะเกิดแถบสีเพียง 1 แถบเท่านั้น คล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ของสตรี นายยงยุทธกล่าวและว่า
ชุดตรวจดังกล่าวนับเป็นวิธีการ
ที่ง่าย สะดวก ราคาถูก และสามารถตรวจได้ในจำนวนมาก ที่สำคัญ ชุดตรวจนี้ ถือเป็นชุดตรวจพาหะโรคธาลัสซีเมียแบบแถบสีรายแรกของโลกที่คิดค้นและพัฒนาโดยฝีมือคนไทยจนสำเร็จและสามารถใช้งานได้จริง ขณะนี้ไบโอเทคได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรแล้ว โดยจะประกาศความสำเร็จอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มี.ค. นี้ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จ.ปทุมธานี