“สุริยะใส” ชี้ 4 ปม แก้ที่มา ส.ว.ส่อขัด รธน.

“สุริยะใส” ชี้ 4 ปม แก้ที่มา ส.ว.ส่อขัด รธน.

“สุริยะใส” ชี้ 4 ปม แก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.ส่อขัด รธน.“มีส่วนได้เสีย - เปลี่ยนรูปแบบรัฐ - องค์ประชุมไม่ครบ – ไม่ประชามติ” ฟันธงเปลี่ยนรูปแบบรัฐ สถาปนาอำนาจเดี่ยว ไร้การถ่วงดุลตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่มาของ ส.ว.ว่า จากที่ติดตามการประชุมมาตลอด3วัน พบว่ามีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 4 ประเด็น คือ1. ส่อว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา122 ที่กำหนดให้ ส.ส. ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือห้ามมีส่วนได้ส่วนเสียในการทำหน้าที่ แต่จากการอภิปรายเห็นชัดเจนว่าหลายคน โดยเฉพาะ ส.ว.ที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 2 มี.ค.2557 สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพราะต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือกลับมาเป็น ส.ว.อีก แม้แต่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า อยากให้ร่างแก้ไขเสร็จก่อนหมดวาระ เพื่อจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ต่ออีกสมัย

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า 2. การเปลี่ยนที่มา ส.ว. ตามร่างแก้ไขก็หมิ่นเหม่ว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง
 
ที่ระบุว่า ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะเสนอมิได้ แต่การแก้ไขที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งและไม่มีหลักประกันของความอิสระจากพรรคการเมือง เท่ากับปล่อยให้พรรคและกลุ่มการเมืองถือทั้งอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจถ่วงดุลตรวจสอบไปในคราเดียวกันได้ ทำให้รูปแบบของรัฐกลายเป็นรัฐอำนาจเดี่ยวเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบรัฐให้มีธรรมาภิบาล

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า 3.ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ครบกระบวนความพิจารณาในวาระที่ 1 เพราะยังมีญัตติขอให้ขั้นกรรมาธิการแปรญัตติ 60 วัน ค้างอยู่

แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมชิงปิดประชุมเพราะไม่ครบองค์ประชุมและที่ประชุมมากำหนดกรอบแปรญัตติใหม่แค่15วัน ถือว่ามีปัญหาไม่ครบองค์ประชุมและไม่ครบกระบวนความพิจารณาตามวาระที่ 1 อย่างสมบูรณ์ และศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยยกเลิกกฏหมายฉบับที่องค์ประชุมไม่ครบมาแล้ว และ4. เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการลงประชามติของประชาชน หรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมาจากประชาชน ฉะนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือแก้เป็นรายมาตรา ก็ต้องจัดทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อน.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์