
"อุเทน" ฟันธงเอกชนได้ประโยชน์จากคำสั่งศาล เพราะรัฐต้องผู้รับผิดชอบประชาพิจารณ์แทน แนะทางที่ดีรัฐบาลควรยกเลิกทั้งโครงการดีกว่า
นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลปกครองเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า คำสั่งของศาลมีผลให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าดำเนินการต่อไปได้
แต่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทำประชาพิจารณ์ จากเดิมที่เงื่อนไขการประมูลกำหนดให้เป็นภาระของเอกชนผู้ผ่านการคัดเลือก ทำให้งานในสัญญาลดลง แต่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเท่าเดิม
"สิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงก่อนหน้านี้ คือขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อาจทำให้โครงการล่าช้า แต่เมื่อรัฐบาลมารับผิดชอบตรงนี้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์ โดยยังไม่ต้องลงนามในสัญญา เหมือนว่ารัฐบาลทำงานฟรี ๆ ให้กับทางผู้ประกอบการ ทั้งที่ในทีโออาร์ระบุว่าหากทำงานเกินเวลาที่กำหนด จะต้องมีการปรับผู้ประกอบการ" นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลใช้ข้ออ้างในการทำสัญญาตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แนะนำให้แยกสัญญาในแต่ละแผนงาน ก็อาจทำให้เกิดความเสียหาย
เพราะแผนงานไหนที่ผ่านขั้นตอนประชาพิจารณ์แล้วก็เดินหน้าได้ทันที แต่เมื่อทำงานไปแล้ว แต่ละแผนงานอาจจะมีการปรับเปลี่ยน ทำให้ไม่สอดคล้องกัน และจะกระทบกับโครงการทั้งระบบ
"ยกตัวอย่างเช่น เรื่องคลังข้อมูลตามแผนงาน A6 และ B4 ถ้าทำไปก่อนแล้วสุดท้ายแต่ละแผนงานที่แต่ละบริษัทได้รับไป เกิดมีเหตุที่ต้องปรับเปลี่ยนไม่ตรงตามกรอบแนวคิด ก็จะได้ระบบสัตว์ประหลาด แบบมีหูเป็นลิง จมูกเป็นแมว ตัวเป็นกระต่าย ออกมาดูไม่ได้" นายอุเทนกล่าว
นอกจากนี้ นายอุเทน ยังเสนอด้วยว่า ในความเป็นจริงเมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแบบนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะทบทวนโครงการ โดยการยกเลิกแผนงานทั้งหมด ซึ่งอาจจะทำเฉพาะส่วนของคลังข้อมูลตามแผนงาน A6 และ B4 เพื่อนำมาเป็นแผนแม่บทในการวางแผนส่วนอื่นๆ หากทำเช่นนี้ก็จะได้กรอบแผนงานที่ชัดเจน และประหยัดงบประมาณไปได้มาก
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว