เมื่อวันที่ 28 พฤษถาคม ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ออกมาระบุว่าร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และสั่งบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้วว่า
ฝ่ายค้านมองว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดังนั้น คำวินิจฉัยของนายเจริญจึงอาจเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะในมาตรา 143 (2) และ (3) นั้น ระบุชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน หมายความถึง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งตนมองว่าในมาตรา 4 ของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอาจมีผลผูกพันในอนาคตที่จะนำไปสู่การคืนเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าวของนายเจริญด้วย
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายเจริญออกมาระบุว่า อาจมีความเป็นไปได้ในการรวมกันพิจารณาของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.ของ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นหลัก และให้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) มารวมนั้น ชี้ให้เห็นเจตนาตามที่ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตไว้คือการนำร่างทั้ง 2 ฉบับ มาพิจารณารวมกัน แต่หากไม่ ก็คงต้องติดตามว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัยอาจจะกลายพันธุ์ โดยเมื่อมีการพิจารณาในวาระที่ 2 ก็จะมีการแปรญัติในชั้นกรรมาธิการ ด้วยการใส่มาตรา 4 ในร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของ ร.ต.อ.เฉลิมเข้าไปในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วนความเห็นของนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีความเห็นว่า ไม่สามารถนำทั้ง 2 ร่างมารวมกันได้ เนื่องจากเป็นคนละหลักการกันนั้น ตนมองว่า ถือเป็นความเห็นหนึ่ง ซึ่งหากมีการพิจารณาในเรื่องนี้ ก็ควรหยิบยกความเห็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาด้วย