´อุทัย´ อัดยับกมธ.ยกร่างฯ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

´อุทัย´ อัดยับกมธ.ยกร่างฯ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา


วันนี้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้ลดสัดส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงเหลือ 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.ว่า วุฒิสภาไม่ได้มีหน้าที่รับใช้ประชาชน แต่มีไว้เพื่อตรวจสอบรัฐบาล กลั่นกรองกฎหมาย และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดังนั้น จำนวนมากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่อยู่ที่จะมี ส.ว.ไว้เพื่ออะไร ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะตัดอำนาจถอดถอนออกนั้น ส่วนตัวมองว่า

สาเหตุที่ให้อำนาจนี้แก่ ส.ว. เพราะเห็นว่า ส.ว.ไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ที่ผ่านมาอำนาจนี้วุฒิสภายังไม่เคยใช้ แล้วจะตัดอำนาจนี้ไปเพื่ออะไร และหากตัดไปแล้วจะให้ใครมาทำหน้าที่ถอดถอน จึงไม่เห็นด้วยที่จะตัดอำนาจนี้ไป

สำหรับกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะให้ ส.ว.มาจากการสรรหาแทนการเลือกตั้งนั้น นายอุทัย กล่าวว่า ต้องถามก่อนว่าจะมีหลักเกณฑ์และการสรรหาอย่างไร เพราะการสรรหาคือ การแต่งตั้ง


อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว


"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมรังเกียจการเลือกตั้งนัก ที่ผ่านมา มี ส.ว.ที่เป็นสามี-ภรรยา เพียงแค่ 11 คู่เท่านั้น ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ แต่มาจากพฤติกรรมของนักการเมือง รัฐธรรมนูญบกพร่องเป็นบางส่วนเท่านั้น เช่นเดียวกับประเด็นที่มาของนายกฯ ผมยังเห็นว่า นายกฯ ยังต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะมาจากประชาชน

ซึ่งจะรับรู้ปัญหาของประชาชนได้ดี หากเชิญคนนอกมาเป็นนายกฯ คนเหล่านี้จะรู้ปัญหาของประชาชนได้อย่างไร โดยเฉพาะบางคนก็ทำตัวเป็นเทวดา"

นายอุทัย ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการห้ามกรรมาธิการยกร่างฯ ลงสมัครรับเลือกตั้ง คนเหล่านี้เลวมากหรืออย่างไรถึงห้ามลงรับสมัครเลือกตั้ง การเมืองทุกวันนี้ มันเลวมากนักหรือ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องพฤติกรรมของคนทั้งนั้น แต่เรากลับมารังเกียจการเมือง และกลับมาพูดกันเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ

"ตรงนี้มันไม่ต่างจากพวกเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" นายอุทัย กล่าว


อดีตประธานรัฐสภา ยังกล่าวถึงการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองว่า


เห็นด้วยกรณีที่มีการเสนอให้ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่15 และ 27 เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญก็ต้องมีนักการเมืองอยู่แล้ว

ดังนั้น กรณีที่นักการเมืองจะไปหาประชาชนอย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ทำนั้นไม่ควรไปห้าม เพราะไม่ทราบว่าผิดตรงไหน หากไม่ให้ไปเจอประชาชน แล้วจะให้ไปเจอ "สุนัข" ที่ไหน



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์