กัมพูชาแจงศาลโลก โต้ข้อหาปลอมแผนที่ ยันใช้เส้นสันปันน้ำไม่ได้ ย้ำแค่ขอให้ศาลขยายความข้อบทปฏิบัติการ ด้าน “ฮฮร์ นัมฮง”ย้ำศาลต้องตีความเพื่อให้ 2 ประเทศอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงเฮก หรือเวลา 20.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ คณะตัวแทนดำเนินคดีของประเทศกัมพูชา นำโดยนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศของกัมพูชา ได้เข้าให้การด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก) กรณีที่กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลโลกตีความเรื่องอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร เป็นวันที่ 2 ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายไทย มีนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนไทยสู้คดี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นายวรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นั่งแถวหน้า
ทั้งนี้ นายร็อดแมน บุนดี ทนายความชาวสหรัฐฯ ของฝ่ายกัมพูชา กล่าวคนแรกว่า จุดเริ่มต้นของข้อพิพาท คือปัญหาจากมติของครม.ของไทย เมื่อปี 2505
ซึ่งไทยได้มีการล้อมรั้วลวดหนามบริเวณปราสาทฯนั้น กัมพูชาได้เคยประท้วงและการที่ไทยอ้างว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ได้เคยกล่าวในปีเดียวกัน ต่อที่ประชุมสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ว่าไทยปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกนั้น ที่จริงไทยหยิบมาอ้างแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นจากทั้งหมด เพราะรัฐมนตรีของกัมพูชาระบุในวันนั้นว่าไทยควรทำในลักษณะที่ทำให้ฉันท์มิตรฟื้นกลับคืนมาได้ แต่โชคร้ายว่าสิ่งที่ไทยทำไปนั้นเป็นการหลอกลวง เพราะเป็นการยึดถือยึดครองปราสาทฯ และไทยไม่ถอนทหาร
ซึ่งไม่ตรงกับคำตัดสินเมื่อปี 2505 ส่วนการที่ฝ่ายไทยระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ไม่เคยประท้วงในระหว่างการเยี่ยมพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทฯนั้น เอกสารของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ระบุว่าพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เคยประท้วงหลายครั้ง แต่ไทยไม่เคยยอมรับ โดยภาพรวมของสิ่งที่เกิดทั้งหมดในปี 2505 ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ากัมพูชามีความเข้าใจเหมือนกับฝ่ายไทย และไม่ได้มีการยอมรับการกระทำของไทยเลย
นายบุนดี กล่าวอีกว่า แม้มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมปราสาทฯ แต่ไทยก็ไม่เคยพูดถึงเส้นตามมติครม.ดังกล่าว
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเส้นตามมติครม.ดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่กัมพูชายอมรับ จากนั้น เมื่อกัมพูชามีการสร้างวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระและมีชุมชนชาวกัมพูชาเกิดขึ้น ไทยก็ไม่มีการประท้วงและไม่มีการพูดถึงเส้นสีแดงตามมติครม. อีกทั้งไม่มีการพูดถึงกิจกรรมต่างๆ และการที่ฝ่ายไทยอ้างว่าชุมชนของกัมพูชากีดขวางนั้น ที่จริงเป็นเรื่องที่ไทยประท้วงในเรื่องของมลภาวะจากการมีอยู่ของชุมชน แต่ไม่เกี่ยวกับเส้นสีแดงของครม. และจากการปักปันเขตแดนก็แสดงให้เห็นว่ามีข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดน ซึ่งยูเนสโกก็เห็นว่ามีข้อพิพาทนี้
นอกจากนี้ เราขอปฏิเสธข้อกล่าวหาของไทยที่ว่าเราปลอมแปลงแผนที่ อีกทั้งแผนที่ของครม.ไทยไม่มีเหตุผล ไม่มีการอธิบายว่าทำไมจึงมีเส้นสีแดง สีเหลือง และไม่สอดคล้องกับแผนที่ 85D รวมถึงศาลไม่ได้เอ่ยถึงแผนที่ 85D ว่าใช้เป็นอะไร อ้างอิงเป็นอะไร แต่บอกว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ตรงกับสันปันน้ำ เส้นสันปันน้ำนี้จึงไม่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของศาล
นายบุนดี กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ไทยกล่าวอ้างว่าเส้นในแผนที่นี้ไม่สามารถถ่ายทอดสู่พื้นที่จริงได้นั้น ไทยต้องการที่จะฟื้นคำพิพากษาใช่หรือไม่
การที่น.ส.อลินา มิรอง ทนายความของฝ่ายไทย ระบุว่าต้องให้ดูที่เส้นสันปันน้ำ แต่เส้นสันปันน้ำเป็นสิ่งที่ไทยได้แพ้คดีตรงนี้ไปแล้ว จึงไม่ใช้สิ่งที่ศาลยอมรับ และคู่ความก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเส้นสันปันน้ำ รวมถึงไม่จำเป็นที่ต้องพิจารณาว่าพื้นที่ของปราสาทฯตรงกับเส้นสันปันน้ำหรือไม่ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาจากเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และศาลก็ไม่ได้ชี้เรื่องเขตแดน อีกทั้งเรื่องเขตแดนก็อยู่ที่การสำรวจตามเอ็มโอยูปี 2543
จากนั้น เซอร์ แฟรงคลิน เบอร์แมน ทนายความชาวอังกฤษ กล่าวให้การว่า กัมพูชาไม่ได้อำพรางคำฟ้องเพื่อให้ศาลขยายคำพิพากษาเดิม แต่ให้ตีความข้อบทปฏิบัติการที่มีข้อพิพาทในเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ ครม.ไทยในปี 2505 ได้เลือกขึงรั้วลวดหนามโดยไม่มีคำอธิบายใดๆสนับสนุน ตนถือว่าไทยไม่เคยกล่าวถึงมูลฐานของที่มาของรั้วลวดหนาม และการถอนกำลังตามวรรค 2 ของข้อบทปฏิบัติการ นอกจากนี้ ไทยต้องการให้กัมพูชาเข้าใจว่าไทยจะถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารไปไว้ตำแหน่งอื่นในพื้นที่ของกัมพูชา
ซึ่งไม่ถูกต้อง รวมถึงไทยสร้างวรรค 2 ของข้อบทปฏิบัติการขึ้นมาใหม่เอง ราวกับว่าไทยมีพันธกรณีที่ต้องถอนกำลังออกมาจากเพียงตัวปราสาทฯ แต่สิ่งที่ศาลโลกเจตนาในคำสั่ง คือการถอนทหารออกไปจากปราสาทพระวิหารและพื้นที่ของกัมพูชา และสิ่งที่กัมพูชาขอต่อศาลโลกในปี 2505 คือให้ศาลสั่งให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากตัวปราสาทและบริเวณปราสาท แต่ไทยได้ตัดสินเองตามอำเภอใจในครม.ปี 2505 ของไทย และการที่ไทยขอให้ศาลต้องตีความแยกกันระหว่างเหตุผลกับข้อบทปฏิบัติการ เป็นเรื่องที่ทนายความของไทยปั้นแต่งขึ้นมา
เซอร์ เบอร์แมน กล่าวอีกว่า ศาลโลกระบุชัดเจนในปี 2505 แล้วว่าไทยยอมรับการปักปันเขตแดนที่อยู่ในแผนที่ภาคผนวก 1 แผนที่นี้จึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาที่ผูกมัดคู่ความแล้ว
ไทยจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าแผนที่นี้ไม่ใช่ตัวกำหนดเขตแดน แต่ทนายความของฝ่ายไทยไม่เคยพูดถึงข้อสรุปนี้ของศาลโลก และการขอให้ตีความแยกกันระหว่างเหตุผลกับข้อบทปฏิบัติการของไทย ขัดแย้งกับหลักการตีความตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่กัมพูชาต้องการเพียงขอให้ตีความข้อบทปฏิบัติการ โดยคำนึงถึงเหตุผลที่นำมาซึ่งคำปฏิบัติการนั้น ไม่น่ายากเกินกว่าที่จะเข้าใจได้
ด้านนายฌอง มาร์ค ซอเรล ทนายความชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า คำตอบของไทยเกี่ยวกับการตีความของฝ่ายไทยนั้นไม่น่าพอใจ
เพราะยังถือเป็นการตีความฝ่ายเดียวโดยครม.ของไทยอยู่ดี และการนำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็สามารถทำได้ เพราะเป็นของกัมพูชาอยู่แล้ว ซึ่งตามกฎหมายแล้ว รัฐฝ่ายเดียวจะกำหนดเขตแดนที่ติดกับเพื่อนบ้านขึ้นมาฝ่ายเดียวได้อย่างไร ปัญหาคือไทยกล้ามากที่กำหนดเส้นเขตแดนขัดแย้งกับคำพิพากษาเดิม บันทึกความเข้าใจเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปี 2543 ที่กำหนดกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ก็ย่อมต้องสอดคล้องกับการปักปันเขตแดนที่มีอยู่แล้วในแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ทนายความของไทยละเลยส่วนที่ศาลเคยกล่าวไว้เกี่ยวกับแผนที่นี้ เพื่อทำให้แผนที่นี้เหมือนไม่มีความสำคัญ
นายซอเวล กล่าวอักว่า ตนยืนยันว่ากัมพูชาไม่ได้อำพรางคำฟ้องเพื่อให้ศาลขยายคำพิพากษาเดิม เพราะไม่ได้ให้ศาลตีความเรื่องแผนที่
แต่ให้ศาลตีความข้อบทปฏิบัติการที่มีข้อพิพาทในเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหาร แม้คำพิพากษาไม่มีการระบุแผนที่ภาคผนวก 1 ในข้อบทปฏิบัติการ แต่ในเหตุผลนั้นศาลระบุชัดเจน ดังนั้นข้อบทปฏิบัติการจะแยกออกจากเหตุผลโดยสิ้นเชิงไม่ได้ เพราะมีความเชื่อมโยงกัน กัมพูชาอ้างอิงพื้นที่ตามคำพิพากษาเดิม จึงต้องมาขอให้ศาลตีความ พื้นที่ใกล้เคียงปราสาท ไม่ใช่จะต้องไปอ้างอิงการตีความเพียงฝ่ายเดียวของไทย แผนที่ภาคผนวก 1 จะไม่ถูกต้องได้อย่างไร ส่วนเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารนั้นก็ไม่ใช่แค่ตัวปราสาท แต่หมายถึงบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งศาลก็ย่อมจำเป็นต้องพิจารณาแผนที่ให้ถึงระดับหนึ่ง เพื่อรู้ได้ว่าเขตแดนอยู่ที่ใด
จากนั้น นายฮอร์ นัมฮง กล่าวปิดท้ายว่า ขอขอบคุณศาลที่ให้ความสนใจต่อคดีนี้ และให้โอกาสคู่ความได้มาแสดงเหตุผลของตัวเอง
โดยเห็นว่าศาลนั้นมีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค ถ้าไม่มีการตีความจะส่งผลให้ 2 ประเทศไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ศาลคงทราบดีถึงการปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลก ซึ่งสิ่งตีพิมพ์ในไทย ก็ระบุถึงการบาดเจ็บล้มตายและการย้ายถิ่นฐานของประชาชน ซึ่งเกิดจากการปะทะ เป็นสิ่งพิสูจน์ว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.มีอยู่จริง
ทำให้คำขอตีความของกัมพูชานั้นชอบธรรม และตนขอยืนยันว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องคำพิพากษา ทั้งในวรรค 1 และ2 ในบทปฏิบัติการที่มีความเชื่อมโยงกัน และมีผลผูกพัน โดยแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถแยกได้จากการตีความ เพราะเป็นการบ่งชี้ถึง "ดินแดน" ที่อยู่ในวรรคแรกและวรรคที่สองในข้างต้น สำหรับกัมพูชาแล้ว ถือว่า ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ส่งผลให้ไทยต้องถอนทหาร ตำรวจ และผู้รักษาการณ์ออกไปจากตัวปราสาทฯและบริเวณโดยรอบ