'ปู'โยนสภาหารือ หลังศาลรธน.รับตีความแก้ไขรธน. มาตรา 68 มาตรา 237 แต่ไม่คุ้มครองฉุกเฉิน ให้ 2 ฝ่ายยื่นแจงข้อกล่าวหาใน 15 วัน
เมื่อเวลา 19.40น.วันที่ 3 เม.ย.2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อร่วมการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนญูมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแต่ไม่คุ้มครองชั่วคราว กรณีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับและยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ว่า ต้องเรียนว่าเป็นขั้นตอนตามกระบวนการของกฎหมายในเรื่องของการรับเรื่องก็คงต้องว่าไปตามขั้นตอน แต่ในส่วนนี้ก็คงต้องให้สภาที่จะต้องเอาขั้นตอนนี้ไปหารือกันในสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้การเดินหน้าในวาระสองมีปัญหาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบก็คงต้องดูในสภาก่อน
ทั้งนี้องค์ประชุมศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กรณีที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 3 แนวทาง คือ ให้ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 เสนอให้ยุบพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าว และสุดท้ายขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิจารณาเสร็จสิ้น โดยที่ประชุมลงมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องไว้พิจารณา แต่ไม่คุ้มครองชั่วคราว ดังนั้นรัฐสภายังคงเดินหน้าพิจารณาและลงมติในวาระแรกตามกำหนดเดิมได้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมองค์คณะพิจารณา ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ก่อนจะมีมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย แต่ไม่คุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากยังไม่ปรากฏกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุผลเพียงพอ ที่จะต้องใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว
นอกจากนี้ ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องและให้ผู้ร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน และผู้ร้องต้องยื่นสำเนาคำร้องต่อศาลจำนวน 312 ชุด
นายสมฤทธิ์ ไชยวงค์ ทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแต่ไม่มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาไว้ก่อน จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ว่า ไม่เป็นปัญหา ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ และการที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็เพราะคำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์
ส่วนการไม่มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณา แล้วหากต่อมาศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขดังกล่าว เป็นการล้มล้างการปกครอง จะมีผลอย่างไรหรือไม่ นายสมฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการคาดการณ์เหตุการณ์ไปล่วงหน้า ถ้าคาดการณ์กันไปก่อนก็จะเป็นการชี้นำได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้มีเพียง 5 คน จาก 9 คน ได้แก่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ส่วนตุลาการอีก 4 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากติดภารกิจไปต่างประเทศ ซึ่งได้แจ้งก่อนหน้านี้แล้ว ได้แก่ นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายบุญส่ง กุลบุปผา นายชัช ชลวร และนายนุรักษ์ มาประณีต
รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย ที่เห็นควรไม่รับคำร้อง 2 เสียง ก็คือนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่ผู้ร้องอ้าง ส่วนเสียงข้างมาก 3 เสียงที่ให้รับพิจารณา คือนายจรูญ อินทรจาร นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องเข้าองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งสมควรที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำการตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้ ช่วงเช้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณายกคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา โดยนายสิงห์ทองกล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของนายสมชาย และสั่งให้รัฐสภาระงับ หรือชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะส่งผลกระทบต่อรัฐสภาทำให้ไม่สามารถเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1 ได้ เท่ากับว่ากรณีดังกล่าวจะค้างการพิจารณา เช่นเดียวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และอาจส่งผลให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ออกมารวมตัว เพื่อทวงถามเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีคำวินิจฉัยแบบสองมาตรฐานหรือไม่ ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งระงับการพิจารณาอาจเป็นการขยายอำนาจโดยมิชอบ และจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองได้