รัฐบาลไม่สนยัน ทักษิณ นั่งเก้าอี้ต่อ ไม่ยุบ-ไม่ออกเด็ดขาด
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 กุมภาพันธ์ 2549 16:03 น.
โฆษกรัฐบาล ปฏิเสธ สุจินดา แนะ ทักษิณ ยุบสภา พร้อมปัดข่าวลือร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภาล่วงหน้า ยันสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น มั่นใจผู้นำยังบริหารประเทศได้ แถมยอ เติ้ง วางบทบาททางการเมืองได้ดี ย้ำรัฐยังยึดแนวทางชี้แจงในสภาเท่านั้น
วันนี้ (23 ก.พ.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงถึงกรณีที่พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ยุบสภาว่า หากดูคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.สุจินดา แล้ว ท่านพูดว่าคงไม่น่ามีอะไรรุนแรง นอกนั้นท่านพูดเพียงว่าหากนายกฯ จะตัดสินใจก็น่าจะเลือกการยุบสภา แต่ ณ วันนี้สิ่งที่รัฐบาลเองยังมั่นใจว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะที่นายกฯ ยังปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ต่อไป ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจในทิศทางใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการลาออก หรือยุบสภาก็ตาม
ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อว่าจะคุมสถานการณ์ได้ใช่หรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าถ้าทุกๆ ฝ่ายยืนยันในแง่ของการที่จะชุมนุมกันโดยสงบ ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาและทุกๆ พรรคพยายามทำให้ปัญหาต่างๆ นอกสภา กลับเข้าสู่รัฐสภา ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การที่ทุกคนยังไม่มั่นใจในสถานการณ์จะผ่อนคลายลง จะทำให้ระบบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาของเราได้มีความตั้งมั่นยิ่งขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา ในส่วนนี้ตนต้องขอชื่นชมพรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ออกมาพูดว่าจะได้เตรียมประเด็นที่จะอภิปรายในทุกประเด็น ถือว่าเป็นบทบาทที่จะได้รับความชื่นชม เมื่อถามว่า เป็นเพราะพรรคชาติไทยหวังร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ หัวเราะและไม่ตอบคำถาม
เมื่อถามว่า โฆษกฯออกมายืนยันว่า นายกฯ สามารถบริหารประเทศต่อไปได้นั้นจะสวนทางกับสิ่งที่สังคมเรียกร้องว่านายกฯ รวบอำนาจ เผด็จการ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ยังไม่มีการชี้แจงให้ชัดเจน นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ที่เป็นคำถามของสังคม ไม่ว่าเป็นเรื่องของความพยายามปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เรื่องของอำนาจผู้บริหารประเทศ รวมทั้งการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐเอื้อประโยชน์กับใครเป็นพิเศษนั้น เป็นเรื่องที่เป็นความห่วงใยทีรัฐบาลเองก็ห่วงใย ซึ่งจะได้มีการขอความเห็นจากรัฐสภา ซึ่งในส่วนนี้หากรัฐสภามีข้อเสนออย่างไรที่ชัดเจน เช่น การนำไปสู่การเสนอแก้รัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ หากเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันรัฐบาลเองก็พร้อมที่จะเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ขณะนี้มีข่าวออกมามาก ล่าสุดมีข่าวร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภา นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้สังคมของเรากลายเป็นสังคมข้อมูลข่าวลือ แทนสังคมข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะสถานการณ์ในช่วง 2-3 วัน ก่อนการชุมนุมวันที่ 26 ก.พ.จะมีข่าวออกมามากมาย อย่างเมื่อวานก็มีสื่อมวลชนสอบถามมายังตนมากมาย ทำให้เห็นว่าเป็นความพยายามของคนบางกลุ่มที่นอกเหนือการสร้างสถานการณ์ตึงเครียดด้วยการลอบวางระเบิดแล้ว ยังมีความพยายามปล่อยข่าวเพื่อหวังว่าการชุมนุมวันที่ 26 ก.พ.จะลุกลามไม่สามารถคุมได้ ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ควรใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบที่มาที่ไปของข่าวสาร
เมื่อถามถึงกลุ่มวางระเบิดกับปล่อยข่าวเป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เป็นกลุ่มที่มีความตั้งใจและอยากเห็นสถานการณ์การชุมนุมวันที่ 26 ก.พ.แทนที่จะสงบเรียบร้อย กลายเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่มีใครประเมินได้ว่าจะมีการพัฒนาต่อไปอย่างไร ส่วนผู้อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆ จะหวังผลอะไรนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลอยู่ในฐานะถูกปรักปรำ ฉะนั้นการที่จะทำให้เกิดการชัดเจนของข้อมูลทั้งหมด การอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาจะทำให้เกิดความกระจ่างของสังคม และเป็นกลไกที่สมาชิกจะให้ความเห็น รัฐบาลเองจะได้รับฟังข้อมูล และตอบข้อมูลที่มีอยู่ให้สมาชิกและรัฐสภาได้รับทราบ คงมีคนบางส่วนที่ไม่ประสงค์จะให้สถานการณ์ของบ้านเมืองอยู่ในความสงบไปจนถึงวันที่ 6 มี.ค.ส่วนจะเป็นคนกลุ่มใดนั้นยังไม่ทราบและไม่อยากปรักปรำใคร