เป็นความพยายาม “นิรโทษกรรม” ครั้งล่าสุดของพรรคเพื่อไทย หลังปรากฏข่าวว่า นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 นัดหมาย 2 ส.ส.เพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำนปช.อย่าง นายวรชัยเหมะ ส.ส.สมุทรปราการ กับ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้าหารือที่ห้องทำงานที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ถึงแนวทางการ “นิรโทษกรรม”
นายปานเทพ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา ไว้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นก่อนไปได้ปรึกษากับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ไปด้วยเหตุผลเพื่อแสดงจุดยืนต่อเรื่องการนิรโทษกรรม รวมถึงไปเสนอแนะแนวทางว่าหากจะนิรโทษกรรม ต้องฟังความเห็นทุกฝ่ายและผู้สูญเสียอย่างภรรยาของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่ชื่อว่า นิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม
ในกรณีของผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าน่าจะทำได้เลย แต่ที่ยังเป็นปัญหาและดูจะกลายเป็นความขัดแย้งคนกลุ่มอื่นที่นอกเหนือจากนี้ จึงเป็น “ที่มา” ของแนวคิดใหม่ที่จะให้มีการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งทั่วไป อีกฉบับหนึ่งผู้ที่กระทำความผิดอื่น ๆ
หากย้อนกลับไปดูความพยายามในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม จะพบว่ามีความพยายามกันมาเป็นระยะ ๆ ผ่านหลายฝ่ายซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวโยงกับรัฐบาลทั้งสิ้น ครั้งแรก ๆนั้นจะมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ผู้อาสาจะพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวนำ ต่อมาก็เกิดเป็นรูปเป็นร่างจากการริเริ่มของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ พร้อม ๆ กับมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการสร้างความปรองดองแห่งชาติจากส.ส.พรรคเพื่อไทยขึ้นมารวมแล้ว 4 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดอยู่ในกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร รอเวลาที่จะหยิบขึ้นมาพิจารณาเท่านั้น
พลันที่เทศกาลปีใหม่ผ่านไป แกนนำนปช.อย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ออกมาจุดพลุเสนอให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม จากนั้นก็มีข้อเสนอจากกลุ่มนิติราษฎร์ โดยมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม 29 มกราคม เป็นฝ่ายขับเคลื่อน จนกระทั่งมาถึงข้อเสนอของคอ.นธ.ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธานได้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม
ที่สุดรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ “รับลูก”ด้วยการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปศึกษา แต่ก็แบ่งรับแบ่งสู้ด้วยการไม่ระบุระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะเสร็จสิ้นและมีความชัดเจนเมื่อไหร่
ความพยายามของนายเจริญน่าสนใจตรงที่ว่า จะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็น 2 ฉบับ
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ซึ่งระบุตัวเองว่าเป็นนักวิชาการและเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมการพูดคุยหารือกับนายเจริญ เปิดเผยว่า ได้เสนอ 2 แนวทาง โดยนำจุดเด่นของกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ คอ.นธ. นิติราษฎร์ และกลุ่มคนเสื้อแดง มาเสนอเป็นร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ 1. ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับประชาชนในคดีทางการเมืองซึ่งยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าช่วงไหน และ 2. ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการบรรเทาความขัดแย้ง โดยหากได้รับการตอบรับก็จะตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาถึงแนวทางการช่วยเหลือจะต้องดูเป็นรายกรณีไป บางรายอาจได้รับการนิรโทษกรรม บางรายอาจได้รับการลดโทษ รอลงอาญา หรือแม้แต่การควบคุมพฤติกรรมอื่น ๆ ทั้งนี้จะตั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
“ส่วนกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถเข้าข่ายร่างพ.ร.บ. ฉบับที่ 2 ได้แต่จะไม่นำเรื่องคดีทุจริตมาเกี่ยวข้อง จะเน้นไปในประเด็นทางการเมือง เช่น การสไกป์ปลุกระดมผู้ชุมนุม เป็นต้น” นายวีรพัฒน์ กล่าว
ใช่ว่าความเคลื่อนไหวจะมีแต่การพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการนิรโทษกรรมเท่านั้น ความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการ “ชะลอ” การนิรโทษกรรม ก็เกิดขึ้นพร้อมกันไปด้วยโดยผ่าน นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯและแกนนำกลุ่มอีสาน 20 จังหวัดที่จะประชุมร่วมกันในวันที่ 11 ก.พ.ที่จ.ลำพูน เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว ซึ่งนายขวัญชัยมองว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมเพราะอาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาลที่กำลังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทั้งการนิรโทษกรรม การปรองดองจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรทำในช่วงปีสุดท้ายจะดีกว่า
หลายฝ่ายมองกันออกว่า แม้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะไม่มีท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องการนิรโทษกรรมกับสังคม แต่หากดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนทั้งหลายซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลซึ่งเป็นในลักษณะ “โยนหินถามทาง” และกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรอช่วงเวลาที่ “เหมาะสม” มากกว่า
ว่ากันว่าเวลาที่เหมาะสมคือ ช่วงเวลาหลังการรู้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้ ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับ “ชัยชนะ” ก็อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคบ้าง แต่ก็อธิบายได้ว่า คนละเรื่องกัน แต่หากเป็นกรณีที่พรรคเพื่อไทยได้รับ “ชัยชนะ” ก็อาจจะถูกเหมารวมไปว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสนับสนุนการทำงานของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นรัฐบาลและเป็นต้นสังกัดของผู้สมัคร
ทั้งต่างจังหวัดที่เป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นเมื่อรวมกับ กรุงเทพฯที่เพิ่งได้รับชัยชนะมาหมาด ๆ ถึงตอนนั้น เมื่อเหล็กกำลังร้อน มีดาบอยู่กี่เล่มก็ “ตี” กันซะทีเดียวไปเลย
หนึ่งในนั้นคือการผลักดันการนิรโทษกรรม จนกระทั่งไปถึงการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพราะสถานการณ์หลังความพ่ายแพ้ ผู้แพ้ย่อมจะ “เสียงไม่ดัง” เหมือนก่อน
หากชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็น่าจะเป็นชัยชนะที่ “เบ็ดเสร็จ” ทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เท่ากับว่าผลของชัยชนะจึงเป็น “ใบเบิกทาง” ทางการเมืองชั้นเลิศ
ในจังหวะที่พอจะเคลื่อนไหวได้ ก็เคลื่อนไหวกันไปเพื่อรอเวลา เพราะเมื่อถึงเวลาทุกอย่างที่ถูก “จัดเตรียม” ไว้จะไหลมาแบบเป็นจังหวะจะโคน
อย่าลืมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำมาซึ่งความขัดแย้งและกำลังจะถูกกลบด้วยการนิรโทษกรรมนั้น ล้วน “เกิดขึ้น” ในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย ที่กำลังมีศึกเลือกตั้งชิงประมุขเสาชิงช้าอยู่ในตอนนี้
ได้ ’ใบเบิกทาง” ทางการเมืองเมื่อไหร่ ก็เบ็ดเสร็จสำเร็จโดยง่ายเมื่อนั้น ไม่เชื่อคอยดู!!!.
“นิรโทษกรรม” ในคำถามยังไม่มีคำตอบ เก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.กับใบเบิกทางการเมือง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง “นิรโทษกรรม” ในคำถามยังไม่มีคำตอบ เก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.กับใบเบิกทางการเมือง