ชาติไทยกลัวเสียเปรียบเกมการเมือง เสนอเลิก ประกาศคปค.

กลัวเสียเปรียบเกมการเมือง สมศักดิ์เสนอเลิกประกาศคปค.


นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าววันนี้ (21 ก.พ.) กรณีหลายพรรคการเมืองเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 15 และ 27 ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ว่า

ขณะนี้มีพรรคการเมืองบางพรรคเดินสายต่างจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์บ้านเมือง จึงเกิดคำถามว่าคำสั่ง คปค. ดังกล่าว มีความหมายหรือไม่ และมีการเอาผิดหรือลงโทษต่อพรรคการเมืองนั้นหรือไม่


รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าว


"ผมเห็นใจทั้ง คมช. และพรรคการเมือง ขณะนี้เป็นช่วงที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการระดมความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอแนะการร่างรัฐธรรมนูญ สังคมส่วนใหญ่คาดหวังว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 น่าจะเป็นฉบับที่ดีกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆ ได้ดีกว่า หากยังมีคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ทั้ง 2 ฉบับ คิดว่าจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญ"

รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวต่อว่า คำสั่ง คปค. ฉบับที่ 15 และ 27 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง แต่กลุ่มการเมืองที่ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีอยู่ 2-3 กลุ่ม กลับออกมาทำกิจกรรมได้ เพราะในคำสั่ง คปค. ไม่ได้ระบุถึงกลุ่มการเมือง ทำให้เกิดความลักลั่น

พรรคชาติไทยจึงขอเรียกร้อง คมช.ว่า ทำอย่างไรจึงจะผ่อนปรน หรือ ยกเลิกคำสั่ง คปค.ทั้ง 2 ฉบับ หรือจะมีการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นคล่องตัว ในการระดมความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ


นายสมศักดิ์ กล่าว


"เป็นไปได้ อยากเห็นการผ่อนปรน ขอให้ คมช.กล้าหาญ ประกาศยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 15 และ 27 หรือถ้าเกรงว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ หรือยังเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง คมช. ควรออกคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง

เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ให้ทุกฝ่ายสามารถทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อระดมความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในเดือน สิงหาคม - กันยายน นี้ จะมีการทำประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นสำคัญยิ่ง"

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ระบุ มีประชาชนเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่รู้จักรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 60 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย ทั้งที่รัฐธรรมนูญอยู่กับสังคมไทยมานานกว่า 70 ปี ขณะที่การทำประชามติเป็นของแปลกใหม่ และเป็นครั้งแรกของสังคมไทย

ประชาชนจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน และการทำความเข้าใจให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่องทำประชามติคงหนีไม่พ้นหน้าที่พรรคการเมือง ดังนั้น ควรจะมีการยกเลิก หรือผ่อนปรนคำสั่ง คปค.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เพื่อให้พรรคการเมืองทำหน้าที่ได้



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์