เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหมทำเอกสารชี้แจงเพื่อแก้ไขข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิด
กรณีมีการนำสำเนาคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/55 ลงวันที่ 8 พ.ย. 55 เรื่องให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการไปแจกจ่ายให้สื่อมวลชน และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่ามีข้อความผิดตกบกพร่องนั้น กรมเสมียนตราขอชี้แจงเพื่อให้เกิดความถูกต้องดังนี้
1. สำเนาคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/55 ลงวันที่ 8 พ.ย. 55 ที่ถูกต้องจะต้องมีการลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง โดยเจ้ากรมเสมียนตรา หรือผู้ที่เจ้ากรมเสมียนตรามอบหมาย เพราะเป็นหน่วยร่างและรับผิดชอบต่อความถูกต้องของคำสั่งดังกล่าว สำเนาคำสั่งที่อ้างว่ามีการพิมพ์คำว่า “รัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหม” ตกคำว่า “กระ” นั้น เป็นสำเนาที่ไม่ตรงกับข้อความในฉบับจริง ซึ่งพิมพ์คำว่า “รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม” ไว้อย่างถูกต้องและเป็นสำเนาคำสั่งที่ได้นำส่งแจกจ่ายให้แก่ผู้รับคำสั่งและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว
2.คำว่า “ผิดหลง” ซึ่งปรากฏในคำสั่งเป็นคำที่ถูกต้องตามภาษากฎหมายแล้ว ไม่ใช่คำที่พิมพ์ผิดพลาดดังที่มีผู้กล่าวหาและพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน
3. การใช้คำว่า “ว่าที่ร้อยตรี” นำหน้าชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในย่อหน้าแรกเป็นการบรรยายถึงการกระทำและความผิดของว่าที่ร้อยตรี อภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 31 แต่การใช้คำว่า “ร้อยตรี” นำหน้าชื่อนายอภิสิทธิ์ ในตอนต่อๆ ไป เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งต่อ ร้อยตรีอภิสิทธิ์ ในวันออกคำสั่งมียศอย่างไรก็ต้องเรียกตามนั้น แต่คำสั่งจะให้มีผลบังคับย้อนหลังไปยังวันใดตามสมควรแก่เหตุก็ย่อมทำได้ ทั้งนี้ เป็นความถูกต้องและเป็นไปตามแบบธรรมเนียมทหารแล้ว
4. การกล่าวหาว่าการออกคำสั่งฯ กระทำอย่างเร่งรีบ ลุกลี้ลุกลนนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะดำเนินการมานานมากแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏผลสอบสวนการรายงาน เมื่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 55 รมว.กลาโหม จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มี พล.อ.อ.ไมตรี โอสถหงส์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ต่อมาเมื่อ พล.อ.อ.ไมตรี เกษียณอายุราชการ รมว.กลาโหม ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการกรณีต่อไป โดยมีพล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 55 คณะกรรมการฯ มีหนังสือแจ้งให้นายอภิสิทธิ์มาให้การหรือส่งเอกสารหลักฐาน ภายในวันที่ 6 พ.ย. 55 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ไม่ได้มาให้การ หรือส่งเอกสารหลักฐานใดๆ มาให้
ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้พิจารณาตัดสินและเสนอความเห็นต่อ รมว.กลาโหม ให้ดำเนินการ 6 ขั้นตอน การพิจารณาลงความเห็นของคณะกรรมการทั้งชุดที่มี พล.อ.อ.ไมตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการชุดที่มี พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เป็นประธาน มีการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ และพิจารณาข้อเท็จจริง ประกอบกับข้อกฎหมายต่างๆ อย่างรอบคอบใช้เวลาต่อเนื่องกันเป็นเวลา 136 วัน
“ยืนยันว่าการออกคำสั่งดังกล่าว ไม่ใช่การกระทำที่รีบร้อน รวบรัดอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูก ดูหมิ่น หรือสร้างความเข้าใจผิดต่อคณะกรรมการฯ หรือชี้นำว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ไม่น่าเชื่อถือ อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้ใดเห็นต่างและคัดค้านและรายงานผลให้ รมว.กลาโหมทราบและพิจารณาใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่อไป ซึ่งรมว.กลาโหมได้อนุมัติสั่งการเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 55 ท้ายบันทึกรายงานของคณะกรรมการ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปแล้ว” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
และว่า การออกคำสั่งให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการนั้น เป็นการดำเนินการทางวินัยโดยแท้ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของข้อเสนอของคณะกรรมการ เนื่องจาก ณ วันกระทำผิดดังกล่าว คำสั่งบรรจุและคำสั่งการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตรยังมีผลบังคับอยู่ แม้จะเป็นคำสั่งโดยมิชอบ ไม่ได้มีนัยว่าคณะกรรมการฯ ได้รับรองเห็นชอบคำสั่งการบรรจุหรือคำสั่งการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตรว่าถูกต้องแล้วแต่อย่างใด โดยกรมเสมียนตราจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป ตามอนุมัติสั่งการของ รมว.กลาโหม และตามระเบียบแบบของทางราชการ