เมื่อวันที่ 28 ต.ค. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกแถลงการณ์รายงานความคืบหน้าคดีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 53 โดยระบุว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.– พ.ค. 53 และต่อมามีการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด จนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทางผู้แทนของพรรคเพื่อไทยเร่งรัดสำนักงาน ป.ป.ช.ในการสรุปสำนวนคดี และชี้มูลความผิดโดยเร็วนั้น
ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่า ได้มีการดำเนินการในคดีดังกล่าวตามขั้นตอนกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะในการไต่สวน ซึ่งการดำเนินการ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงจากผู้กล่าวหา พยานบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องรอผลการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าวจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการเสียชีวิตของประชาชนในเหตุการณ์การชุมนุมระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค. 53 มีหลายหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเป็นต้องรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ 1. รายงานการตรวจสอบเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2. ผลคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์การชุมนุมที่ได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลทุกคดี
3.ผลการสอบสวนคดีอาญา กรณีการเสียชีวิตของประชาชน ในเหตุการณ์การชุมนุม ของกลุ่ม นปช.จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ 4. รายงานฉบับสมบูรณ์ (ฉบับทางการ) ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหา ความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) รวมถึงข้อมูลการให้ปากคำของพยานบุคคล และหลักฐานอ้างอิงตามที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับดังกล่าว ดังนั้น การดำเนินการในคดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จำเป็นต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย และไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ จึงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ส่วนคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 51 นั้น จากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และชี้มูลความผิดทางวินัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น. (ในขณะนั้น) ในกรณีดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุด ได้พิจารณาสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เห็นว่า ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ และได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช.กับสำนักงานอัยการ รวบรวมพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุดมีความเห็นให้รวบรวมเพิ่มเติมแล้ว อัยการสูงสุดเห็นว่า ยังไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดีได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจฟ้องคดีเองหรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีแทนได้ โดยคดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้จ้างทนายความเป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 วรรคสอง.