ครม.ประกาศเปรี้ยง ! เปิดใช้ดอนเมืองถาวร ส่งสัญญาณสุวรรณภูมิอาจปิดตัวลงในเวลาอันใกล้ ที่ปรึกษานายกฯ ยื่นหนังสือด่วน เสนอปิดสนามบินเจ้าปัญหาทั้งกระบิเพื่อแก้ไขทั้งระบบ เชื่อชาวโลกเข้าใจ ระบุวันนี้ทำดีไม่ได้ แต่กลับมาครั้งหน้าต้องเริ่ดสุดๆ จับตามาตรการป้องกันการกลับมาของมาเฟีย-แก๊งขาใหญ่ ของทอท.จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญใครยินดี หรือเสียน้ำตากับการตัดสินใจของครม.ครั้งนี้
ย้ายกลับดอนเมือง ใครได้-ใครเสีย
ผลดี ผลเสียจากการเปิด
ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก็มีมติให้ใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) เป็นสนามบินนานาชาติของประเทศไทย หลังจาก ครม.ได้พิจารณาความเสียหายของท่าอากาศสุวรรณภูมิแล้วเห็นว่ามีความบกพร่องเกิดขึ้นในสนามบิน อีกทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมไว้รองรับปริมาณผู้โดยสารที่มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการรองรับการให้บริการผู้โดยสารระหว่างที่มีการซ่อมแซมทั้งรันเวย์และแท็กซี่เวย์ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสุวรรณภูมิ จึงต้องให้ท่าอากาศยานกรุงเทพเป็นสนามบินนานาชาติอีกแห่งหนึ่ง
"การมีสนามบินนานาชาติ 2 แห่งก็เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเปิดให้บริการเต็มรูปแบบรองรับเที่ยวบินในประเทศ และต่างประเทศเช่นเดียวกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
คาดว่าจะเสนอให้ครม.พิจารณาได้เร็วที่สุดภายใน 45 วัน
หากครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว ท่าอากาศยานกรุงเทพจะมีความพร้อม และเปิดให้บริการได้ภายใน 45 วัน หลังจากนี้จะมีการย้ายเที่ยวบินบางส่วนกลับมาท่าอากาศยานกรุงเทพ กระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าจะให้สายการบินใด และเที่ยวบินใดย้ายกลับมาดอนเมือง จากเดิมที่กำหนดว่าจะย้ายเฉพาะเที่ยวบินในประเทศ โดยให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสายการบิน
นั่นคือสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอธิบายภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ภายหลังจากที่ได้ประเมินแล้วว่ามีผลดีมากว่าผลเสีย ไม่ว่าจะเป็น การช่วยรองรับปริมาณผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ต้องมีการปิดใช้บริการบางส่วนเพื่อซ่อมแซมความเสียหายในแท็กซี่เวย์ และรันเวย์ การช่วยชะลอการลงทุนในโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้และรันเวย์เพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการย้ายครั้งนี้
นอกจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือทอท.จะเป็นผู้ออกแล้ว สายการบินที่สมัครใจจะโยกย้ายก็ต้องมีส่วนรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่ามีสายการบินจำนวนมากที่พร้อมย้ายจากสุวรรณภูมิกลับมายังดอนเมือง
"แม้ว่าการย้ายเที่ยวบินกลับไปดอนเมืองไม่ได้เป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ถ้าต้องย้ายเที่ยวบินระหว่างประเทศไปด้วยจะเพิ่มปัญหายิ่งขึ้น กรณีที่ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจเชื่อว่าเกือบทุกสายการบินคงสมัครใจย้ายกลับ" แหล่งข่าวจากกรมขนส่งทางอากาศให้ความเห็น ซึ่งสอดคล้องกับ อุดม ประสงค์สันติชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินโอเรียนท์ไทย เชื่อว่าทุกสายการบินต้องการย้ายกลับไปท่าอากาศยานกรุงเทพ และเชื่อว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะได้รับผลกระทบแน่นอน
อย่างไรก็ตาม
เป็นไปได้ว่าการตัดสินใจให้ใช้ดอนเมืองเป็นสนามบินนานาชาติอีกแห่งหนึ่ง เป็นเพียงแค่ก้าวแรกของการดำเนินไปสู่การปิดสนามบินสุวรรณภูมิเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป เพื่อทำการซ่อมแซม และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนานัปการ เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหนึ่งในคณะที่ปรึกษานายกรัฐรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า เตรียมเดินทางเข้าไปยื่นข้อเสนอให้ปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ยังมีปัญหา และความไม่พร้อมในหลายประการ
"วันนี้ผมจะเสนอท่านบอกว่ากลับไปที่ดอนเมืองทั้งกระบิเลย แล้ว do it right second time ชาวโลกที่ใช้บริการสุวรรณภูมิเขาพร้อมที่จะให้อภัย" แต่นี้ถ้าทำอย่างนี้อีก 5 ปีสุวรรณภูมิก็ยังซ่อมไม่เสร็จ ให้เขาด่าไปอีก 5 ปี แล้วเราให้บริการคนปีละ 45 ล้านคน สมมติว่ามีนักท่องเที่ยวประมาณครึ่งหนึ่งกลับมาใหม่ ก็ตีไป 20 ล้านคน คูณกับอีก 5 ปี 100 ล้านคน ก็ด่าประเทศไทยต่อไปอีก 100 ล้านคน อีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะฉิบหายหรือไม่คิดดู
ผมคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ถึงแม้ต้องใช้เวลา 2-5 ปี ซึ่งตอบไม่ได้เพราะสุวรรณภูมิมีปัญหาทั้งภายในและภายนอก แต่เชื่อว่าไม่ถึงกับกระทบกระเทือนมาก แม้จะมีความไม่สะดวกของผู้โดยสาร และไม่สอดคล้องกับการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคก็ตาม แต่ถ้าซ่อมแล้วต้องดำเนินการให้เบ็ดเสร็จ คือ ในเมื่อเราไม่สามารถ do it right first time ทำให้ดีพร้อมสมบูรณ์ในครั้งแรก ผมเชื่อว่าก็ทำให้ดีพร้อมสมบูรณ์ในครั้งที่สอง ผมคิดว่าคนคงให้อภัยกันได้
สนับสนุน-คัดค้าน
แม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนพอๆกับเสียงไม่เห็นด้วยกับการเปิดดอนเมืองเป็นสนามบินในประเทศ และต่างประเทศถาวรควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มีตั้งแต่ กรมขนส่งทางอากาศ และแอร์ไลน์ต่างประเทศที่ส่วนใหญ่สนับสนุน Single Airport หรือสนามบินเดียวมากกว่า ส่วนซีอีโอของนกแอร์ พาที สารสิน เห็นว่า การเปิดดอนเมืองนั้นจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในสายตานานาชาติไม่มีความมั่นใจ
ส่วนที่เห็นด้วยก็มีจำนวนไม่น้อย อาทิ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ที่เชื่อว่าการเปิดสนามบินทั้ง 2 แห่งเป็นแนวความคิดที่ดี เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสายการบินสามารถมีอิสระในการใช้บริการสนามบินทั้งสองเพื่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร ขณะที่สายการบินฟิลิปปินส์ แอร์ไลนส์ เห็นว่า หลายสายการบินมีความคุ้นเคยกับสนามบินดอนเมืองมากกว่า และเชื่อว่าการใช้สนามบินดอนเมืองจะทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายถูกลง
ย้าย-ปิดสุวรรณภูมิ
ใครกระเทือน
ผ่านไป 4 เดือนกว่า หลังจากเก็บข้าวเก็บของย้ายจากสนามบินดอนเมืองมาอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หลายคนอาจเพิ่งหายเหนื่อยจากการเก็บข้าวของเครื่องใช้ให้เข้าที่เข้าทาง หรือเซ็ตระบบการทำงานแล้วเสร็จ บางคนเริ่มคุ้นชินกับการเดินทางไกลๆเข้าห้องน้ำ คุ้นชินกับอากาศอันร้อนอบอ้าวที่แตกต่างจากดอนเมืองชนิดคนละเรื่อง แต่ใครจะเชื่อยังไม่ทันจะเข้าเดือนที่ 5 ใครหลายๆคนต้องกลับมาเหน็ดเหนื่อยกับการเก็บข้าวเก็บของเพื่อย้ายสถานที่ทำงานมาอยู่ ณ ที่แห่งเดิมอีกครั้ง
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การเสียทั้งเงิน เสียทั้งเหงื่อกับการขนย้ายข้าวของของบริษัทกลับไปกลับมา แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ได้รับผลได้-ผลเสียจากการตัดสินใจของครม. คราวนี้ ผลเสียประการแรก ปัญหาส่วนตัวของพนักงานสายการบินบางแห่งที่บางส่วนได้ย้ายบ้านจากดอนเมืองไปอยู่ที่สุวรรณภูมิแล้ว ประการที่สอง งบประมาณของสายการบินที่ต้องนำมาใช้ในการย้ายเที่ยวบินกลับไปดอนเมือง และการใช้เที่ยวบินเปล่ารองรับระหว่าง 2 สนามบิน เพราะเครื่องบินมีไม่พอ
ประการที่สาม งบประมาณที่ต้องนำมาใช้ในการซื้ออุปกรณ์เพิ่มบางส่วน ตลอดจนการว่าจ้างบุคลากรมาทำงานเพิ่มขึ้นที่ดอนเมืองเป็นจำนวนมาก (กรณีที่ต้องให้บริการทั้งสองท่าอากาศยาน เช่น การบินไทย เป็นต้น) ซึ่งบางสายการบินประเมินว่าค่าใช้จ่ายคงอยู่ในหลักร้อยล้านบาท หรืออาจสูงถึงพันล้านบาทหากเกิดความผิดพลาดขึ้น
ทอท.รายได้หดหมื่น ล.
ผลเสียประการต่อมา เกิดขึ้นกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ต้องประสบกับปัญหาการไม่สามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมบริการการบินกับสายการบินที่ใช้สนามบินนานาชาติในไทยทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง (usercharge) เพิ่มอีก 15% ในวันที่ 1 เมษายน 2550 ได้ดังที่ตั้งใจไว้ ขณะเดียวกันทอท.อาจต้องเจอปัญหาด้านการลงทุนใหม่ที่ต้องหาเงินมาซ่อมลานบินที่ชำรุดอยู่ มูลค่าที่มีการประเมินจากวิศวกรอิสระคร่าวๆ ต้องใช้เงินอย่างต่ำ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังต้องสูญเสียผลตอบแทนต่อเนื่องที่จะได้จากบริษัท คิงเพาเวอร์ เจ้าของสัมปทานร้านค้าเชิงพาณิชย์ และร้านค้าปลอดอากรในสุวรรณภูมิ คิดเป็นเม็ดเงินมหาศาล เพราะการมีสนามบินนานาชาติถึง 2 สนามบิน แถมมีแนวโน้มว่าหลายสายการบินนานาชาติจะย้ายไปอยู่ที่สนามบินดอนเมือง ย่อมทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังสุวรรณภูมิหดหายไปเป็นจำนวนมาก มิหนำซ้ำยังมีกระแสข่าวว่าจะปิดซ่อมสนามบินสุวรรณภูมิด้วยซ้ำ ยิ่งปัจจัยกระแทกซ้ำไปยังทอท. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทคิงเพาเวอร์ให้กระอักเลือดชนิดไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากที่บริษัทคิงเพาเวอร์ได้สัมปทานเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น (อ่านล้อมกรอบ ความชอกช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าของเจ้าพ่อดิวตี้ฟรี)
งานนี้เรียกได้ว่าเป็นการสูญเสียรายได้เฉพาะในส่วนของร้านค้าเชิงพาณิชย์
และร้านค้าปลอดอากรซ้ำแล้วซ้ำเล่าของทอท. นับจากบอร์ด ทอท.ชุดพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธาน มีมติเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ให้รื้อพื้นที่ในอาคารผู้โดยสารทั้งร้านค้าเชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดอากรที่เพิ่มออกไปเกินกว่าสัญญากำหนดเกือบ 9,000 ตร.ม. รายได้จะต้องสูญหายไปอย่างแน่นอนไม่ต่ำกว่า 30% ของเป้าหมายรายได้หมุนเวียนเข้าร้านค้าต่างๆ ที่ตั้งไว้ปีละรวม 20,000 ล้านบาท คิดเป็นไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วน ทอท.จะได้ส่วนแบ่ง 2 พื้นที่ เป็นรายได้จากการการันตีขั้นต่ำรวมกันประมาณ 2,500 ล้านบาท และยังจะมีรายได้จากส่วนแบ่งยอดขายอีก 15% ของยอดรวมทั้งหมด
รายได้ทั้ง 2 ส่วน จากการขึ้นค่าธรรมเนียมบริการการบินจากสายการบินที่คาดว่าจะได้อีก 15% และรายได้จากพื้นที่ร้านค้าทั้ง 2 ประเภท ร้านค้าพาณิชย์และดิวตี้ฟรี รวมแล้วเม็ดเงินที่ ทอท.ควรจะได้อาจหล่นหายไปจากเป้าหมายมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาทก็เป็นได้
"บีเอฟเอส" ถึงกับมึน
โชคไม่เข้าข้าง "บีเอสเอฟ" บริษัทในเครือบางกอกแอร์เวยส์ ภายใต้การกุมบังเหียนของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ต่อเรื่องการมีมติให้ย้ายกลับไปใช้สนามบินดอนเมืองทั้งเส้นทางบินในประเทศและนอกประเทศควบคู่ไปกับสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องปิดปรับปรุงในบางพื้นที่ ทำให้รายได้บางส่วนหดหายไป อย่างไรก็ตามเป็นที่รู้กันดีว่าหมอปราเสริฐ หมายมั่นปั้นมือกับธุรกิจบริการขนส่งสินค้าและกราวด์เซอร์วิสที่สุวรรณภูมิเป็นอย่างมาก เนื่องจากสุวรรณภูมิเป็นแหล่งขุมทรัพย์มหาศาลที่ใคร ๆ ก็อยากจะเข้าไปขุดลงทุน จึงทำให้หมอปราเสริฐกล้ายื่นข้อเสนอด้วยผลตอบแทนที่สูงให้กับทอท. ที่สูงกว่า "แท็กส์" จนได้ครองสัมปทานในสุวรรณภูมิสมใจ โดยมีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจคาร์โกหรือการบริหารคลังสินค้าจากอากาศประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,600 ล้านบาท ส่วนเม็ดเงินที่ลงทุนไปกับอุปกรณ์บริการภาคพื้นดินที่มีมากกว่า 680 ชิ้นมีประมาณ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,400 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท
ทว่าล่าสุด การกลับมาคืนชีพของดอนเมืองครั้งนี้ทำให้ บีเอฟเอส จุกอกเจ็บหนัก
แทนที่ "บีเอฟเอส"จะเงินได้ครบทุกเม็ดจากสัมปทานที่ตนประมูลได้ในสุวรรณภูมิ กลับถูกดอนเมืองดูดเงินไปหลายร้อยล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง สจ๊วด ซินแคลร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบางกอกไฟล์ท เซอร์วิสเซส (บีเอฟเอส) เคยเผยถึงเม็ดเงินที่จะได้จากสุวรรณภูมิปีแรกแบ่งเป็นจากคาร์โก้ 25 ล้านเหรียญหรือ 1 พันล้านบาท ขณะที่จากบริการภาคพื้นดินอีก 20 ล้านเหรียญหรือ 800 ล้านบาท หรือรวมกัน 1,800 ล้านบาท แน่นอนว่าระยะเวลาเพียง 4 เดือนที่ผ่านธุรกิจของบีเอฟเอสเปรียบเสมือนช่วงตั้งไข่ในสุวรรณภูมิ ผนวกกับมีครม. มีมติให้กลับไปใช้ดอนเมืองเป็นสนามบินควบคู่กับสุวรรณภูมิย่อมทำให้รายได้ที่วาดฝันไว้ถึง 1,8000 ล้านบาทอาจไม่เป็นไปตามเป้า เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์กันเม็ดเงินที่จะกลับมาสะพัดในดอนเมืองหลังจากเปิดใช้งานแล้วจะมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในจำนวนนั้นต้องเป็นเงินไหลมาจาก 1,800 ล้านบาทที่บีเอฟเอสจำต้องยอมปล่อยให้มาที่ดอนเมือง
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ