"ยิ่งลักษณ์" เปิดใจ 1 ปีรัฐบาล แก้ปัญหาส่งออก-จัดการน้ำ-ประเมินผลงาน รมต.
บริหารประเทศครบรอบ 1 ปีเต็มในเดือน ส.ค.นี้พอดี กรำศึกหนักทั้งวิกฤตน้ำท่วม น้ำแล้ง มรสุมความขัดแย้งทางการเมือง และล่าสุด พิษเศรษฐกิจโลก ผลพวงจากวิกฤตยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบภาคธุรกิจส่งออกอย่างรุนแรง ในฐานะผู้นำประเทศ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง ทั้งแก้โจทย์เรื่องการส่งออก การบริหารจัดการน้ำ ช่วงก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของรัฐบาล
- มั่นใจว่ายอดส่งออกจะเติบโต 9%
จากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งวิกฤตยุโรป สหรัฐ การตั้งเป้าหมาย 9% เป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่เรามองคือถ้าเราทำงานทุกส่วน อันนี้คือเป้าหมายที่เราอยากเห็น และจะเอาเป้าหมายนี้ไปทำงานกับภาคเอกชนด้วย ต้องช่วยกันหาตลาดใหม่ ตลาดเดิมที่อาจจะมีปัญหา มีเรื่องของความผันผวนต่าง ๆ กำลังการซื้อลดลง
สิ่งแรกคือ 1.รักษาฐานเก่าที่ดีอยู่ 2.หาตลาดใหม่เพิ่มเติม 3.ก็คงต้องไปดูว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ทำรายได้ดีจะช่วยเพิ่มการส่งออกได้ไหม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ช่วยกันดูว่าการผลิตมันติดตรงไหนบ้าง ส่งออกมากขึ้นจะทำได้หรือไม่ อันนี้เป็นเป้าหมาย เป็นตัวตั้งให้กระทรวงพาณิชย์ไปทำแผน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทำแผนเริ่มทำตั้งแต่การประชุมผู้ส่งออกแล้ว แบ่งเป็นคณะกรรมการย่อย 4 ชุด ที่เราประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจก็ติดตามเรื่องเหล่านี้ นำเข้ามาเสริม หลังแผนเสร็จเรียบร้อยจะมาดูความเป็นไปได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน
เป้าเดิมที่ตั้งไว้ว่าการส่งออกจะเติบโต 15% นี่ ต้องเรียนจริง ๆ ว่าไม่น่าจะไปถึง จากที่เราเห็นความผันผวนต่าง ๆ กำลังซื้อในบางกลุ่มที่ลดลง 9% ก็ถือว่าเป็นความท้าทาย แต่หวังว่าปลายปีในไตรมาส 4 ทุกอย่าง กำลังการผลิตจะดีขึ้น สิ่งที่เป็นห่วงคือกลุ่มของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ถ้าสามารถฟื้นตัวได้เร็วก็จะทำให้การส่งออกดีขึ้น ถ้าฟื้นตัวไม่ทันตัวเลขอาจไม่ใช่เลขนี้
- มีโอกาสต่ำกว่า 9% ไหม
ตัวเลขเป๊ะ ๆ ขอให้ทางทีมกลับไปทำงาน เพราะเขาต้องไปประเมิน ร่วมทำงานกับภาคเอกชน ไอที คอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นความหวัง เป็น 2 กลุ่มใหญ่ แต่เราก็ต้องไปดูโหมดอื่น ๆ ด้วย
- เครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อน
ไปดูในกลไกมากกว่าว่าจะทำอย่างไร ต้องไปคุยกับภาคเอกชนว่าต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลืออะไร ดูกระบวนการต่าง ๆ ได้สั่งการกระทรวงพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้ก็ติดตาม เรายึดตัวเลขตามที่สภาพัฒน์รายงานว่าในไตรมาส 2 การขยายตัวอยู่ที่ 7% กว่า วันที่ 3 กันยายนนี้กระทรวงพาณิชย์ก็จะหารือเรื่องนี้กับภาคเอกชน
ต้องบอกว่าวันนี้ทางด้านตลาดต่างประเทศหรือกำลังการผลิตต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนตลาดส่งออกหลักของไทยคือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป แต่วันนี้กำลังเคลื่อนมาที่อาเซียน เรายังไม่ได้รับประโยชน์จากกลุ่มอาเซียนมากนัก วันนี้ต้องช่วยกันให้ผู้ประกอบการปรับตัว
คำว่า ปรับตัวคือ 1.หาตลาดส่งออกใหม่เพิ่ม อาจจะไปเสริมในส่วนของอาเซียน แต่บางอย่างต้องอาศัยการปรับตัวทั้งภาครัฐและเอกชน 2.ไปดูว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน จะใช้ประโยชน์อย่างไร ที่จะหาวัตถุดิบหรือซัพพลายที่ดีที่สุด ถูกที่สุด เพื่อลดต้นทุน และเสริมกำลังการผลิตให้รวดเร็วขึ้น ต้องลงไปในรายอุตสาหกรรม ไปดูห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
- แผนสำรองในกรณีที่ส่งออกไม่เข้าเป้า
ภาพรวมก็คงต้องอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างวันนี้ ภาพรวมตัวเลขของฐานรายได้ทั้งหมดส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ก็ต้องไปดูว่าเราจะช่วยอย่างไร มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐออกไปก็หวังว่าจะมีผลบ้าง แต่ต้องเรียนว่าคงไม่ได้ผลทันที วงจรของการเศรษฐกิจต้องใช้เวลา กระตุ้นการลงทุน เราก็เชิญนักลงทุนมาลงทุนในประเทศ เอาธุรกิจที่แข็งแรงไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การท่องเที่ยวก็ต้องผลักดันให้สร้างรายได้เพิ่มด้วย
- ประเมินการทำงานกระทรวงเศรษฐกิจ
อย่าเพิ่งประเมินให้เขาแถลงผลการทำงานก่อน ต้องบอกว่าหลายท่านมองว่ารัฐบาลทำงานหนึ่งปี ต้องขอความเห็นใจจริง ๆ แล้วเข้ามา ต้องดูเรื่องของอุทกภัยก็เกือบ 3 เดือน ถ้าดูจริง ๆ รอบของการใช้ของงบประมาณ งบประมาณเพิ่งผ่านรัฐสภาเดือนกุมภาพันธ์ 2555 กว่าจะเริ่มกระบวนการก็มีนาคมแล้ว ดังนั้นเวลาทำงานของรัฐบาลแค่ครึ่งปี อาจจะเหมือนจะหนึ่งปี แต่ทำงานจริง ๆ 6-7 เดือน
การทำงานของเรามี 2 โหมด คือ ทำระยะสั้นแก้ปัญหา และวางแผนพัฒนาระยะยาว ฉะนั้นมีทั้งงานที่บางเรื่องอาจไม่เห็นเป็นตัวเลขจริง ๆ ไม่ทันใจกับความคาดหวังของประชาชน เพราะมีหลายปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เช่น เรื่องอุทกภัย แน่นอนจีดีพีลดลง แต่หลังจากอุทกภัย ถ้าไปดูวงจรของคนอื่นเขา เขาใช้เวลาฟื้นตัวเกือบ 1 ปี แต่วันนี้การเติบโตของจีดีพี เราฟื้นตัวครึ่งปี บังเอิญมาเจอเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกอีก ทำให้ตัวเลขไม่นิ่ง
- เป็นห่วงน้ำท่วมไหม
เรื่องน้ำท่วมเราสบายใจขึ้น ขณะเดียวกันน้ำแล้ง ภัยแล้งก็เป็นห่วง ในเรื่องน้ำท่วมกับน้ำแล้ง การบริหารสมดุล ถ้าดูองค์รวม แต่ถ้าดูรายพื้นที่อาจจะมีปัญหา บางพื้นที่อาจจะน้ำท่วม บางพื้นที่อาจน้ำแล้ง เพราะเรายังไม่เคยเชื่อมระบบน้ำในการปรับสมดุลทั้งประเทศ อันนี้เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องแก้
พื้นที่นอกเขตชลประทานฝนตกมากเกินไป ไม่มีระบบระบายน้ำก็ท่วม บางพื้นที่ที่แล้ง เราเจอทั้ง climate changes, economic changes และ energy changes
- การปรับคณะรัฐมนตรี
เรายังไม่ได้คิดตรงนั้น เพราะต้องดูเวลา เหตุการณ์ และความเหมาะสม เพราะบางครั้งเปลี่ยนม้ากลางศึกก็ทำให้การทำงานติดขัด แต่ก็ไม่หมายความว่าการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีทุกครั้ง คณะรัฐมนตรีทำงานไม่ได้ผล มันขึ้นอยู่กับจังหวะ