ข้อเท็จจริงจาก "ถวิล เปลี่ยนศรี" ฝากถึง"เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ" : ขยายปมร้อยโดยสมถวิล เทพสวัสดิ์
"ข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม แต่เมื่อเข้าสู่เวลาหนึ่งกลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผมคิดว่าถ้าบ้านเมืองเป็นแบบนี้ เวลาผ่านมาแค่ไม่กี่เดือนแต่ข้อเท็จจริงบางอย่างถูกบิดเบือน เราจะเขียนประวัติศาสตร์ในหลายๆ ปีได้อย่างไร"
ถ้อยแถลงเปิดใจจากปากของ "ถวิล เปลี่ยนศรี" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์การชุมนุม เมื่อปี 2553
จากผลของการชุมนุมในครั้งนั้นเป็นที่มาของการสอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตจากการชุมนุม จำนวน 91 ศพ แม้เวลาจะล่วงเลยมานับปี แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปสำนวนได้
ที่สำคัญเมื่อ "อำนาจ" เปลี่ยนมือ จึงส่งผลต่อ "สำนวน" ที่ถูกมองว่ามีการ "บิดเบือนข้อเท็จจริง" และมีการตัดตอนเหตุการณ์บางช่วงเพื่อเป้าประสงค์บางประการ
โดยเฉพาะล่าสุดทีมสอบสวนชุดของ "พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข" รองอธิบดีดีเอสไอ ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบคดี ออกมาเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เตรียมเรียกพลแม่นปืนมาสอบปากคำ ทำให้ "กองทัพ" ไม่พอใจต่อการออกมาให้ข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ
เพราะการให้ข้อมูลดังกล่าวของพนักงานสอบสวนอาจทำให้ประชาชนหรือสังคมที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงเข้าใจผิดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน
การที่ "ถวิล" ในฐานะเลขานุการ ศอฉ. ขณะนั้น ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในครั้งนี้ เพราะต้องการจะกระตุกเตือนทีมสอบสวน อย่าตีปลาหน้าไซ ทำให้สังคมเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานแบบผิดๆ และการเสียชีวิตของประชาชน 91 คน ไม่ใช่เสียชีวิตในวันที่เจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะสมกันมา
สำคัญเหตุการณ์ครั้งนั้น "ถวิล" ได้อธิบายว่า เจ้าหน้าที่ออกมาเพื่อความสงบเรียบร้อย ออกมาระงับเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากการชุมนุมประท้วงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัยออกมาชัดเจนแล้วว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินตามกฎหมายได้ ตามหลักสากล หากเจ้าหน้าที่ไม่ออกมาน่าจะเป็นเรื่องแปลกมากกว่า ดังนั้น เจ้าหน้าที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญมากกว่าถูกก่นด่าว่าฆ่าประชาชน
การแถลงข่าวของ "ถวิล" ครั้งนี้ยังยืนยันว่า มีชายชุดดำจริง ซึ่งมีการจับกุมดำเนินคดีและได้มีการประกันตัวออกไป มีการใช้อาวุธและยิงต่อสู้เจ้าหน้าที่ และการทำงานในศอฉ.ทำในรูปคณะกรรมการ มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีปลัดกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ร่วมเป็นกรรมการ โดยมี "ธาริต เพ็งดิษฐ์" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นกรรมการศอฉ. ร่วมประชุมตลอดทั้งเช้า กลางวัน และเย็น
นั่นหมายความว่า หากสรุปผลสอบสวนที่ส่งผลกระทบกับ ศอฉ. และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในเหตุการณ์ครั้งนั้น นั่นหมายถึงต้องมี "ธาริต" รวมอยู่ด้วย !
แต่จากการติดตามความคืบหน้าการสอบสวนของพนักงานชุดปัจจุบันไม่เคยพูดถึงเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ที่มีกองกำลัง 2 ชุด จากโรงแรมโกลเด้นฮอส ใกล้กับถนนราชดำเนิน และกองกำลังอีกหนึ่งชุดที่มากับรถตู้ โจมตีเจ้าหน้าที่ทหารจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก
เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจแถลงข่าวให้เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธจริงในการเข้าสลายการชุมนุม
ในเมื่อการชุมนุมมีคนร้ายแฝงตัวแล้วใช้อาวุธจริงยิงใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รัฐบาลก็คงไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว
แต่ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ "ถูกตัดตอน" ไม่มีการพูดถึง จะเอ่ยถึงเฉพาะเหตุการณ์กระชับพื้นที่ถนนราชประสงค์ และสรุปยอดของผู้เสียชีวิตเท่านั้น
การปรับเปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวนคดีดูเหมือนพยายามจะสรุปผลให้ได้ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะคนในรัฐบาลส่วนใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นแกนนำคนเสื้อแดง และผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยหลายคน รวมถึง "ทักษิณ ชินวัตร" ก็ถูกตั้งข้อหาผู้ก่อการร้าย และผู้ให้การสนับสนุน มีโทษร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต หากผิดจริงบั้นปลายของชีวิตคือ "ติดคุก" หรือไม่ก็ "หนีคดี"
การบิดเบือนข้อมูลทั้งหมดจึงเป็นเรื่องยาก อย่าลืมว่าข้อมูลการสอบสวนเหตุการณ์การชุมนุม ปี 2553 มีอยู่ 4 ชุด 1.กองทัพ 2.สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. 3.สมช. และ 4.ดีเอสไอ
การออกมาแถลงข่าวของ "ถวิล" ครั้งนี้อย่างน้อยก็ชี้ให้สังคมเห็นสิ่งที่กำลังถูกบิดเบือนและเป็นการเบรกเกมกระบวนการยุติธรรมนอกศาล !
หลายคนเป็นห่วง "ถวิล" หลังจากออกมาแถลงข่าวในครั้งนี้ เพราะมีตำแหน่งเป็น "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"
แต่ดูจากพฤติการณ์ของ "ถวิล" ที่ผ่านมา คิดว่าตำแหน่ง "ที่ปรึกษาแต่ไม่ปรึกษา" แล้วจะให้ไปกลัวอะไร ?