ไขคำสั่งลับสไนเปอร์ ใครเกี่ยว-ไม่เกี่ยว !!??

หมายเหตุ - กรณีเอกสารลับคำสั่งการการใช้อาวุธของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ถูกนำออกมาเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต โดยระบุว่ามีการสั่งการให้ใช้พลแม่นปืน หรือสไนเปอร์ มีความเห็นทั้งจาก นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะอดีตกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ทบ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้

ไขคำสั่งลับสไนเปอร์ ใครเกี่ยว-ไม่เกี่ยว !!??

ธาริต เพ็งดิษฐ์
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)


ในฐานะอดีตกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้รับข้อมูลเรื่องคำสั่งการจากสื่อเช่นกัน แต่ช่วงที่เป็นกรรมการ ศอฉ. ขณะนั้นไม่เคยเห็นคำสั่งดังกล่าว แต่เท่าที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องทราบว่าลักษณะการทำงานของ ศอฉ.จะแบ่งผู้ปฏิบัติงานหลักเป็น 4 ส่วน คือ 1.บุคคลจากฝ่ายการเมือง โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง 2.ข้าราชการตำรวจ ถือว่าเป็นผู้รักษากฎหมาย 3.ข้าราชการทหาร จะเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะกำลังหลักที่สำคัญ และส่วนสุดท้าย 4.ข้าราชการพลเรือน ในส่วนนี้ผมเข้าไปเกี่ยวข้องจะมีบุคคลจำนวนมาก เท่าที่ทราบ จะเป็นปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและอธิบดีกรมที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการ ศอฉ.ชุดใหญ่ จะประชุมอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือวันละ 2 ครั้ง แบ่งออกเป็นการประชุมใหญ่และการประชุมย่อย การประชุมคณะกรรมการ ศอฉ.ชุดใหญ่ จะเป็นการประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์ที่ผ่านมาในรอบ 24 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง และวิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในช่วง 12 หรือ 24 ชั่วโมงข้างหน้า การประชุมของ ศอฉ.ชุดใหญ่นี้ จะไม่มีการหารือ หรือตัดสินใจ หรือสั่งการ ในเรื่องสำคัญใดๆ มีเพียงการรายงานและวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวเท่านั้น

"แต่การประชุมย่อยต่างหากจะมีสาระสำคัญ เท่าที่ผมทราบ มีการประชุมส่วนยุทธการ และส่วนงานการข่าว และอื่นๆ เฉพาะส่วนการประชุมยุทธการ น่าจะถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เพราะเป็นการสั่งการ บัญชาการ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และการประชุมย่อยในส่วนยุทธการนี้ จะมี 3 ส่วน เฉพาะฝ่ายการเมือง ฝ่ายตำรวจ ทหารเท่านั้น ฝ่ายพลเรือนไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผมจึงได้เข้าร่วมเฉพาะการประชุมใหญ่ดังกล่าว แต่การประชุมยุทธการ ผมไม่ถูกกำหนดให้เข้าร่วมด้วย เท่าที่ทราบ หลังจากมีการประชุมยุทธการแต่ละครั้ง จะมีการทำคำสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อถือปฏิบัติในแต่ละเรื่อง น่าจะรวมถึงเรื่องการสั่งการ ให้มีการใช้กำลังเพื่อปฏิบัติการต่างๆ ด้วย"

ส่วนตัวมีความเห็นเรื่องนี้ว่า ศอฉ.ทำงานได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ ที่คับขันของบ้านเมืองขณะนั้นแล้ว
 
แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายๆ มุมมอง แต่ผมมีความเห็นในมุมหนึ่งว่า สภาวะบ้านเมืองที่วิกฤตเช่นนั้น ศอฉ.ได้ปฏิบัติการเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะทำให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด และการสูญเสียในชีวิตและร่างกายของตำรวจ ทหาร และพลเรือน ก็ไม่เกิดการฆ่าและทำร้ายกัน อย่างรุนแรงไปมากกว่านี้

ปกติการออกคำสั่งการแต่ละครั้ง กลุ่มย่อยต้องขอความเห็น ศอฉ.ชุดใหญ่หรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่มี เพราะคำสั่งการต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของที่ประชุมส่วนยุทธการหรือประชุมกลุ่มย่อย ที่มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ที่เข้าร่วมการประชุม

ส่วนประธานการประชุมย่อยหรือส่วนยุทธการ ใครนั่งเป็นประธานการประชุมแต่ละครั้งนั้น คงจะมี ผอ.ศอฉ. และบางครั้งก็มีนายกรัฐมนตรีนั่งร่วมอยู่ด้วย

การประชุม ศอฉ.ชุดใหญ่จะมีคนมากหน้าหลายตาเข้าร่วมประชุม แต่การประชุมย่อยหรือประชุมส่วนยุทธการจะจำกัดคน ไม่มีข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าร่วม ดังนั้น ผมจึงไม่ได้เข้าร่วมในส่วนยุทธการ การออกคำสั่งไม่ต้องขอความเห็น ศอฉ.ชุดใหญ่ เพราะประชุมย่อยมีนายสุเทพในฐานะ ผอ.ศอฉ.นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน และบางครั้งนายอภิสิทธิ์ก็ร่วมนั่งประชุมด้วย

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
โฆษกกองทัพบก (ทบ.)

จากที่เว็บไซต์ประชาไทได้เผยแพร่เอกสารโดยอ้างว่าเป็นเอกสารของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติการใช้อาวุธเพื่อรักษาที่ตั้งสำคัญ จุดตรวจ ด่านตรวจ ของช่วงสลายชุมนุมเมื่อปี 2553 ระบุหากมีผู้ก่อเหตุใช้อาวุธแล้วอยู่ปะปนกับผู้ชุมนุม ให้เจ้าหน้าที่งดใช้อาวุธ ยกเว้นถ้าในหน่วยมี "พลแม่นปืน" ให้ทำการยิงเพื่อหยุดยั้งการก่อเหตุได้ และหากไม่สามารถยิงได้สามารถร้องขอ "พลซุ่มยิง (Sniper)" จาก ศอฉ.นั้น เป็นเอกสารฉบับจริง แต่ผู้ที่นำเอกสารฉบับนี้มาปล่อยเข้าใจว่ามีนัยยะเรื่องอื่น เพราะเอกสารมีอยู่ 5 แผ่น แต่เลือกนำแผ่นสุดท้ายมาปล่อย

ทั้งนี้ ไม่ใช่อะไรที่เป็นเรื่องใหม่เป็นเรื่องเก่าแล้วทั้งหมด ในฐานะโฆษก ศอฉ.ในตอนนั้น ได้เล่าให้สังคมเข้าใจมาโดยตลอดว่าการปฏิบัติงานของ ศอฉ.ยึดหลักสากลจากเบาไปหาหนัก ทั้งหมดอยู่ในเอกสารแผ่นที่ 1, 2, 3, 4 แต่แผ่นสุดท้ายเราได้อธิบายความว่า หากเราปฏิบัติจากเบาไปหาหนักนั้น ไม่สามารถจะระงับยับยั้งการปฏิบัติที่ผิดกฎหมายก่อให้เกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ได้ เราก็จำเป็นที่ต้องใช้พลแม่นปืนระวังป้องกัน

กองทัพบกไม่เคยใช้สไนเปอร์ เราเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่าพลแม่นปืนระวังป้องกัน ส่วนใครจะไปเรียกอะไรก็เรื่องของเขา แต่ส่วนใหญ่พยายามจะเรียกให้มันดูน่ากลัวว่าสไนเปอร์ คือ พลซุ่มยิง ไม่ได้บ่งบอกว่าซุ่มยิงอะไร อย่างไรก็ตาม พลแม่นปืนระวังป้องกัน หากมีผู้ใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่เพื่อให้ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ พลแม่นปืนระวังป้องกันจำเป็นต้องปฏิบัติงานของเขา นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดว่า หากผู้ที่ถืออาวุธสงครามปะปนอยู่กับประชาชน หากทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ หากอ่านในเอกสารให้ละเอียดจะมีข้อความเหล่านี้อยู่

หากเราพบบุคคลผู้ที่มีอาวุธสงครามปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วกำลังจะใช้อาวุธทำร้ายประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ถึงชีวิตหรือบาดเจ็บ และเราไม่สามารถป้องกันด้วยวิธีอื่นได้ พลแม่นปืนระวังป้องกัน เขามีหน้าที่ต้องดำเนินการตามภารกิจ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไปยิงทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องทั้งหมดได้อธิบายความไปหมดแล้วตั้งแต่สมัย ศอฉ.

เราไม่ได้วิตกกังวลต่อเอกสารที่ถูกปล่อยออกมา เพราะเป็นเรื่องเดิม เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ไม่เอามาปล่อยให้หมดทั้ง 5 แผ่น ทำไมเลือกเอาแผ่นสุดท้ายมานั้นเพราะเอกสารเผ่นที่ 1, 2, 3, 4 พูดถึงมาตรการจากเบาไปหาหนัก สังคมจะได้ไม่เห็นและทำให้สังคมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่มีคำสั่งที่ชัดเจนให้ยิง นี่คือนัยยะสำคัญที่ต้องการจะปล่อยเรื่องนี้

2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีความพยายามจากกลุ่ม จากบุคคล เพื่อสร้างกระแสทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนให้เห็นว่ากองทัพทำอะไรที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ กองทัพนั้นทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม เขาปล่อยข้อมูลเพื่อเสริมภาพที่เขากำลังพยายามสร้างอยู่ แต่เราคงไม่กังวลเพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้ชี้แจงมาหมดแล้ว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์