โดยไม่สนใจเสียด้วยซ้ำ ไปว่าหนึ่งในเหตุผลของการรัฐประหารที่ผ่านมาก็คือ "การมีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"
นายนพดล ปัทมะ มีหรือที่จะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาอันเป็นเหตุทำให้เกิดการรัฐประหาร ทบทวนกันอีกครั้งให้ก็ได้ ถึงคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ว่า "ถ้าผมไม่จงรักภักดี ผีที่ไหนจะจงรักภักดี" หรือที่พูดว่า พร้อมจะลาออกหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา "กระซิบ" หรือในกรณีการโยกย้ายข้าราชการก่อนมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
แม้กระทั่งกรณีการใช้เงิน 1,000 ล้านบาท ที่ตั้งเงื่อนไขว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายต่อเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมางานสโมสรสันนิบาตของรัฐบาลชุดที่แล้ว ตลอดจนการของบประมาณเพื่อซื้อเครื่องบินไทยคู่ฟ้าที่ใช้เหตุผลว่าจะมาใช้เป็นพระราชพาหนะสำรอง แต่สุดท้ายเจ้านายเอามาใช้เสียเอง หรือแม้กระทั่งการตัดตราครุฑออกจากบัตรประชาชนชาวไทย ฯลฯ
ยังไม่นับกรณีล่าสุดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปให้สัมภาษณ์ในต่างประเทศที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนกระแสสื่อสารมวลชนต่างประเทศที่พร้อมใจออกกันมาอย่างเป็นกระบวนการในความพยายามเปรียบเทียบ "เศรษฐกิจพอเพียง" กับ "ทักษิโณมิกส์"
นายนพดล ปัทมะ คนที่เคยเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดล ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้การกระทำที่ไม่บังควรของสื่อสารมวลชนเหล่านั้น ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหรือไม่?
แต่อันที่จริงแล้ว "จริยธรรม" และ "ความกตัญญู" นั้นมีระดับสูงกว่าตัวบทกฎหมาย แต่สำหรับนายนพดล ปัทมะแล้ว อาจจะไม่ได้เข้าใจเช่นนี้ก็ได้ เพราะนายนพดลได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 ถึงกรณีการหลบเลี่ยงภาษีของตระกูลชินวัตรว่า "ผมคิดว่าในเมื่อไม่ผิดกฎหมาย มันก็ไม่ผิดจริยธรรม"
ในขณะที่ "จริยธรรม" "ความกตัญญู" และ "ความจงรักภักดี" ของ "คุณทองแดง" แสดงได้ด้วยการปฏิบัติทั้งชีวิตโดยที่ไม่ต้องมีกฎหมายใดๆมาบัญญัติหรือกำหนดเอาไว้ทั้งสิ้น
ส่วนนายนพดล ไม่อยากจะไปถูกเปรียบเทียบกับคุณทองแดงนั้น จะเป็นเพราะอายคุณทองแดงหรือไม่ หรือกลัวว่าคุณทองแดงจะเสื่อมเสียเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเองหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบได้จริงๆ