เผยแผนรวบทหารบอมบ์กรุง หวังช่วยทักษิณรอวันนายเก่าคืนบัลลังก์

บิ๊กทหารชี้แผนรวบตัวมือบึ้ม ตำรวจหวังชำระหนี้แค้นพร้อมเอาใจนายเก่ารอวัน "ทักษิณ" เรืองอำนาจ คมช.โต้คดีบึ้มกรุง 9จุดรับปีใหม่ไม่มีปักธงล่วงหน้า ฝ่ายนักวิชาการชี้ตำรวจไม่กล้าหือยุคทหารเรืองอำนาจ ทั้งยังมีทหารจับตาดูการสืบสวนอย่างใกล้ชิดเชื่อคดีบึ้มไม่สร้างความแตกแยกระหว่างฝ่ายทหารและตำรวจ



การล่าตัวคนร้ายที่ก่อเหตุวางระเบิด 9 จุดใจกลางกรุงเทพมหานครและนนทบุรีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ภายหลังถูกกดดันอย่างหนักทั้งจาก นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์และพล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งตั้งทีมสอบสวนอย่างรวดเร็ว

นำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองผบ.ตร. ฝ่ายป้องกันปราบปรามอาชญากรรม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวน พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าชุดสอบสวน


ชุดสืบสวนเข้าสืบค้นพื้นที่เป้าหมายหลายจุด


21 ม.ค.ที่ผ่านมาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอาทิ นนทบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี และลพบุรี จนสามารถรวบตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นทหารและพลเรือนทั้งสิ้น 19 คน

ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษก็คือการเข้ารวบตัวตัว พ.ท.สุชาติ คัดสูงเนิน หรือ เสธ.คัด นายทหารช่วยราชการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ซี่ง พ.ท.สุชาติเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของทั้งพล.อ.สุรยุทธ์และพล.สนธิ ซึ่งจุดนี้กลายเป็นข้อสังเกตเมื่อ

ผู้ต้องสงสัยทั้งหลายถูกปล่อยตัวกลับหลังการสืบสวนเสร็จสิ้น และก็เป็นภายหลังจากที่พล.อ.สนธิออกโรงเสียงเข้มว่า "เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของทหาร"

รวบเสธ.คัต ช่วย "ทักษิณ"


ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก อย่าง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ระบุถึงเบื้องหลังของการเข้าควบคุมตัวพ.ท.สุชาติและนายทหารคนอื่นๆเป็นการชำระแค้นเก่าที่มีระหว่างตำรวจกองปรามและพ.ท.สุชาติซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพล.อ.พัลลภ ปิ่นมณีซึ่งเป็น"ปฎิปักษ์"เจ้านายเก่าอันได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

และยังถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาด้วย เมื่อนำความน่าจะเป็นมาต่อติดกัน เหตุผลที่ทหารแบล็คลิสต์ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดของพล.อ.พัลลภมาผูกติดกันการเข้าคุมตัวพ.ท.สุชาติจึงเกิดขึ้น และที่สำคัญก็เพราะตำรวจยังเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้งได้ในอนาคตหากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า

"เสธ.คัดมีชื่ออยู่ในแบล็คลิสต์ ของตร.กองปราบ ในเรื่องเกี่ยวกับซีดี ทั้งยังเคยมีเรื่องกันมาหลายต่อหลายครั้ง การเข้าจับกุมครั้งนี้จึงเป็นการคิดบัญชีกันและสามารถนำไปเชื่อมโยงกับคดีระเบิดได้ด้วย เพราะตำรวจมองกันว่าพล.อ.พัลลภอยู่เบื้องหลังซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันเนื่องจากเสธ.คัดเคยไปขอยศพันโทกับพล.อ.พัลลภเพราะว่าติดยศพันตรีอยู่นานและพล.อ.พัลลภก็ติดยศให้


เมื่อเกิดเรื่องขึ้นตำรวจจึงมองว่า


ทั้งสองมีความเกี่ยวข้องกัน และด้วยการที่พล.อ.พัลลภ ซึ่งเป็นอริของพ.ต.ท.ทักษิณการผูกเรื่องครั้งสำคัญจึงเกิดขึ้นเพื่อที่ต้องการเอาใจพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะลึกๆก็เชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากตำรวจถือกฎหมายอยู่ในมือซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้สนองนโยบายของรัฐบาลมานานแล้ว และเมื่อเจ้านายเก่าเดือดร้อน ลูกน้องจึงออกมาช่วยเจ้านาย"

นอกจากนี้ การเร่งจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหลายเพื่อดำเนินคดีนั้นก็เพื่อที่จะทำการในช่วงที่พล.อ.สนธิเดินทางไปประเทศจีนเพื่อพบปะผู้นำทางการทหารของจีนในระหว่างวันที่ 21-24ม.ค.ที่ผ่านมา

แต่ก็ไม่ทันเนื่องจากพล.อ.สนธิกลับมาทุกอย่างจึงจบลง ผู้ต้องสงสัยเกือบทั้งหมดจึงถูกปล่อยตัว ซึ่งทหารก็ใช่ว่าจะไว้ใจการทำงานของตำรวจจึงได้มีการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดูแลคดีแบบคู่ขนานพร้อมทั้งให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ร่วมกันสืบคดีอีกด้วย

บิ๊กบัง ยันไม่ปักธง มือบึ้มกรุง


"ที่หลายฝ่ายมองว่า คดีนี้มีการปักธง ถือว่าเป็นการมองในแง่ร้ายโดยที่จริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น พล.อ.สนธิไม่ได้บอกว่าผู้ต้องสงสัยไม่มีทางเป็นทหาร เพียงแต่บอกว่าทหารที่เรียกไปสอบปากคำนั้นไม่ใช่ผู้วางระเบิด ซึ่งคนร้ายที่แท้จริงอาจเป็นทหารนอกแถวก็เป็นได้

ส่วนที่ยืนยันว่าทหารที่ถูกคุมตัวไปสอบปากคำนั้นไม่ใช่มือวางระเบิดก็เพราะว่าผู้ต้องสงสัยเป็นเพียงทหารที่เป็นผู้ฝึกสอนวิชาระเบิด และย่อมที่จะมียุทโธปกรณ์เกี่ยวกับระเบิด ที่มีไว้สำหรับทำการสอน และท่าน(พล.อ.สนธิ)เองก็เปิดโอกาสเต็มที่ทั้งการที่มีทหารและดีเอสไอเข้ามาร่วมสืบคดี

เพื่อให้เป็นที่สบายใจแก่ทุกฝ่าย ซึ่งหากพบว่ามีทหารหรือตำรวจนอกแถวก็จะจัดการอย่างเด็ดขาดทันที ส่วนการปักธงว่า คนร้ายต้องไม่ใช่ทหารนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ ที่สำคัญคือการเร่งหาตัวคนร้ายให้ได้โดยเร็วที่สุดต่างหาก"

นี่คือถ้อยคำของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคมช.ที่เปิดเผยผ่าน "ผู้จัดการรายสัปดาห์อย่างตรงไปตรงมาว่า การสืบคดีไม่ได้มีการปักธงว่าคนร้ายต้องไม่ใช่ทหารแม้ว่าจะเคยเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของพล.สนธิซึ่งหลักฐานที่ตรวจพบนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอนเท่านั้น จึงไม่มีทางที่จะเป็นผู้ก่อเหตุ จุดนี้จึงเป็นสิ่งที่พล.สนธิค่อนข้างมั่นใจว่าพ.ท.สุชาติไม่เข้าข่ายต้องสงสัย และมั่นใจว่าทหารไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้อง


เชื่อ สัมพันธ์ ตร.ทหาร.ไม่สะบั้น


อย่าไรก็ตาม สิ่งที่สร้างความเป็นห่วงก็คือความขัดแย้งระหว่างทหารและตำรวจ ที่เกิดจากการที่ทหารตกเป็นจำเลยของสังคมมาแล้วในหลายคดี อาทิ คาร์บอมบ์ และเหตุระเบิด 9 จุด แต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสองเหล่าทัพมากนัก

โดย พล.อ.กิตติ รัตนฉายา หรือ "แม่ทัพฉิ่ง" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นอาจสร้างความไม่พอใจต่อทหารหลายท่านแต่การที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวทหารถึงในกรมกองก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และภายหลังก็พบว่านายทหารที่ถูกคุมตัวไปนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปัญหาความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายจึงไม่น่าจะเป็นความบาดหมางหรือเป็นเรื่องที่ใหญ่โต

"จริงที่ทหารต่างก็มีเกียรติและศักดิ์ศรี แต่ทว่าการเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยนั้นก็ทำได้และเชื่อว่าต้องมีการขออนุญาติจากผู้บัญชาการแล้ว ซึ่งหากทหารเองมีความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ได้กระทำผิดก็ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะถูกควบคุมตัว แล้วผลที่ออกมาพบว่าไม่มีความผิดจริงทุกคนก็ถูกปล่อยตัวออกมาก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามเดิมและก็เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่สร้างความแตกแยกระหว่างทหารและตำรวจอย่างแน่นอน "


ทางฟากของนักวิชาการ


อย่าง ศ.ดร..สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ คณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้นมองว่าเรื่องที่ตำรวจพยายามที่จะงัดข้อกับทหารในเวลานี้เพื่อช่วยพ.ต.ท.ทักษิณนั้น ไม่น่าเป็นไปได้

เนื่องจากขณะนี้ทหารมีอำนาจครอบคลุมในทุกด้าน อีกทั้งภาพพจน์ที่ตกต่ำของตำรวจนั้นจะเป็นตัวเร่งให้ตำรวจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งตัวอย่างจากการเข้าควบคุมตัวทหารถึงในกรมนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่แสดงให้เห็นว่าตำรวจไม่เลือกปฏิบัติทำงานตรงไปตรงมา

และจุดนี้หากมองกันดีๆก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สมควรซึ่งเมื่อพบข้อสงสัยก็เข้าสืบสวนทันที รวมทั้งตลอดการสืบสวนก็มีคณะทหารพระรัฐธรรมนูญร่วมสืบสวนด้วยตลอด จึงไม่น่าเป็นที่กังขาจนสร้างความแตกแยกระหว่างทหารและตำรวจได้

"การที่ตำรวจเข้าไปควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่เป็นทหารในกรม กอง หรือไม่ว่าจะที่ใดที่เป็นเขตทหารนั้น หากมองว่าเป็นการหมิ่นเกียรติของทหารก็เชื่อว่าเป็นการมองอย่างใจแคบและหวาดระแวงเกินไป ซึ่งทั้งที่จริงในเวลานี้ทุกฝ่ายควรที่จะร่วมมือกัน เนื่องจากตำรวจต้องทำตามหน้าที่ การเข้าไปควบคุมตัวตัวผู้ต้องสงสัยนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว"


กลับกันหากตำรวจไม่เข้าไปดำเนินการ


จึงจะถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดเสียมากกว่าเพราะจะเป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อเห็นว่าเป็นทหารหรือตำรวจแต่ไม่เข้าคุมตัวเพื่อสอบสวน นี่คือความผิดที่แท้จริง ไม่เช่นนั้นหากคนร้ายเป็นตำรวจหรือทหารก็ไม่มีทางที่จะจับได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สามารถสืบหาตัวคนร้ายในคดีดังกล่าวได้แต่บทสรุปสุดท้ายน่าจะไม่พ้นสองคำตอบก็คือ การพ้นจากตำแหน่งของผบ.ตร.ของพล.ต.อ.โกวิท และการได้ตัวคนร้ายที่ไร้ข้อครหาว่าเป็นแพะ ซึ่งฝ่ายตำรวจรู้ดีว่าเสียงของ พล.อ.สนธิ ที่ว่า "ขอให้สืบสวนกันอย่างตรงไปตรงมาด้วยความโปร่งใส และไม่ให้ซ้ำรอยคดี เชอร์รี่แอน ดันแคน หากมีการจับแพะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเป็นผู้รับผิดชอบ" นั้นเข้มเพียงใด....

ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์